HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 30/10/2556 ]
กินแป้งเยอะ... อันตรายใกล้ตัว

 

  นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล
          พีท อาห์เรน มหาวิทยาลัยร็อกกีเฟลเลอร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์อีกผู้หนึ่งที่ศึกษากระบวนการเผาผลาญไขมันจนมีชื่อเสียง เขาสังเกตพบว่าผู้ป่วยที่กินอาหารไขมันต่ำ ก็มักจะมีไตรกลีเซอไรด์พุ่งกระฉูด ถ้าเมื่อใดกินอาหารไขมันสูงไตรกลีเซอไรด์ก็กลับจะลดต่ำ เขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ภาวะไขมันเลือดสูงจากการกินแป้ง (carbohydrate induced lipemia) อาห์เรนแสดงภาพหลอดเลือด 2 หลอดของผู้ป่วยคนเดียวกัน หลอดหนึ่งเจาะเมื่อผู้ป่วยกินแป้งมาก อีกหลอดหนึ่งเจาะเมื่อผู้ป่วยกินแป้งน้อย หลอดที่กินแป้งมากนั้นซีรั่มจะข้นคลักไปด้วยคราบไข อีกหลอดหนึ่งซีรั่มใสสะอาด ภาพแสดงนี้บ่งชี้ชัดเจนว่าเมื่อกินคาร์โบไฮเดรตมากในเลือดจะเต็มไปด้วยคราบไข เพราะคาร์โบไฮเดรตจะเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์นั่นเอง อาห์เรนเขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า  "...เปอร์เซ็นต์ของไขมันในเลือดเป็นตัวบ่งชี้ความรุนแรงของโรค...และเปอร์เซ็นต์ไขมันในเลือดกลับถูกพบว่าสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่กินเข้าไป แทนที่จะสัมพันธ์กับปริมาณไขมันที่กินอย่างที่เราเคยเข้าใจ"
          จากภาวะไขมันเลือดสูง (ทั้งไตรกลีเซอไรด์ซึ่งพ่วงด้วยคอเลสเตอรอล) จะก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวแล้วความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือดก็ตามมา อาห์เรนกล่าวว่า "ในพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่กินแป้งเยอะและมีโรคอ้วนชุกชุม การยุยงส่งเสริมให้ประชากรกลุ่มนี้กินไขมันให้น้อยลง ยิ่งจะซ้ำเติมวิกฤติทางสุขภาพมากยิ่งขึ้น" เพราะนั่นแปลว่าคนเราเมื่อกินไขมันน้อยลง แถมยังบอกว่าไขมันสัตว์ที่แฝงอยู่ในสเต๊กเนื้อสัน ในหมูสามชั้น หนังเป็ดหนังไก่ ไม่ควรกิน ก็เท่ากับผลักคนกลุ่มนี้ให้หันไปกินแป้งข้าวหรือผลไม้มากขึ้น นั่นแหละคือปากประตูสู่ความเสี่ยงทางสุขภาพ นี่คือความหลงทิศผิดทางของแนวทางสุขภาพตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
          อาห์เรนเตือนเกี่ยวกับอันตรายของการด่วนสรุปอย่างง่ายๆ ว่าอาหารไขมันและคอเลสเตอรอลเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา "เรากล่าวโทษอาหารไขมันกับคอเลสเตอรอลโดยยังไม่ทันมีหลักฐานที่แน่ชัดเลย ก็ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในประชาคมทั่วไปไปซะแล้ว มันอาจจะเป็นเพราะคาร์โบไฮเดรตและไตรกลีเซอไรด์ต่างหากเล่า" เขากล่าว
          งานของอาห์เรนได้รับการยืนยันจากผลงานของมาร์กาเรต แอลบริงก์ (Margaret Albrink) กับวิสเตอร์ เมกส์ (Wister Meigs) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเยลซึ่งทำงานด้านเวชศาสตร์ป้องกัน พวกเขามีผลงานวิจัยในปี ค.ศ. 1960 โดยพบว่า ในผู้ป่วยโรคหัวใจหลอดเลือดจะมีไตรกลีเซอไรด์สูงมากซะยิ่งกว่าการมีคอเลสเตอรอลสูง กล่าวคือ ในคนสุขภาพปกติวัยหนุ่มมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงเพียง 5% ของประชากร เทียบกับคนสุขภาพปกติวัยกลางจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง 38% ของประชากร แต่ในผู้ป่วยโรคหัวใจหลอดเลือดจะมีไตรกลีเซอไรด์สูงถึง 82% ของจำนวนผู้ป่วย
          พฤษภาคม 1961 ไม่กี่เดือนหลังจากที่สมาคมโรคหัวใจอเมริกันยกย่องชมเชยสมมติฐานของคีย์ส (เกี่ยวกับผลร้ายของคอเลสเตอรอลและกรด ไขมันอิ่มตัวที่มีต่อโรคหัวใจ) อาห์เรนและแอล  บริงก์ก็เสนอผลงานของพวกเขาในงานประชุมวิชาการสมาคมแพทย์อเมริกันที่แอตแลนตา ทั้งสองคนรายงานว่า การเพิ่มของระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ขณะเดียวกันอาหารไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตสูง เป็นตัวการของการเพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ (ในทางปฏิบัติก็มีสาเหตุจากการกินแป้ง ขนม ผลไม้นั่นเอง) รายงานนี้มีน้ำหนักมากขนาดนิตยสารนิวยอร์กไทม์ส (New York Times) ขึ้นปกหน้าหนึ่งระบุว่า "สถาบันร็อกกีเฟลเลอร์ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า ไขมันเป็นปัจจัยก่อโรค" เนื้อหาในเล่มยังได้แสดงข้อมูลของอาห์เรนที่พิสูจน์ว่า "คาร์โบไฮเดรตต่างหาก ไม่ใช่ไขมัน ที่เป็นสารพึงเฝ้าระวังถ้าจะป้องกันอันตรายจากโรคหัวใจหลอดเลือด" ไทม์ยังได้รายงานว่า "การค้นพบดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกผิดคาดในหมู่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมายที่ร่วมอยู่ในการประชุมครั้งนั้น"
          ที่ผ่านมาอันตรายประการหนึ่งของการด่วนสรุปอย่างง่ายๆ ในประเด็นทางการแพทย์ที่นำเสนอต่อสาธารณะ จนกำหนดให้ลงหลักปักฐานเป็นหลักศิลา บางทีก็ถูกพบว่า ข้อสรุปดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง อย่างความรู้สุขภาพที่บอกว่าคอเลสเตอรอลเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ก็เป็นการตั้งสมมติฐานอย่างง่ายๆ เพราะมีการสังเกตว่าหลอดเลือดที่แข็งตัวนั้นมีคอเลสเตอรอลเกาะเป็นคราบอยู่ แต่ทุกวันนี้ความจริงมากขึ้นทุกทีที่บ่งชี้ไปในทางที่ว่า: คาร์โบไฮเดรตนั่นแหละคือตัวการ ความอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน-เหยื่ออันโอชะของแนวคิดลดไขมัน เพิ่มแป้ง
          เมื่อเราพากันงดไขมัน หลีกเลี่ยงแม้กระทั่งเนื้อสัตว์ แล้วบุคคลผู้นิยมบริโภคจะเหลืออะไรให้บริโภค ก็หนีไม่พ้นการกินแป้งข้าว ขนม ของหวาน และผลไม้ในที่สุด กรณีของคุณเฉลิมก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อเขากินจุ แต่คนรอบข้างกลัวเขาอ้วน จึงให้ควบคุมไขมัน ผลก็คือเขายิ่งกินแป้งข้าว ขนมของหวานอย่างเมามัน คาร์โบไฮเดรตที่กินเข้าไปจึงกลายเป็นไตรกลีเซอไรด์ซึ่งจะลำเลียงไปซุกไว้ใต้ผิวหนังทำให้อ้วนนั่นเอง กลับตัวกลับใจเสียใหม่
          เนื่องในวาระดิถีฉลองขวบปีที่ 18 ขอให้ไทยโพสต์และผู้อ่านจงเฉลิมฉลองด้วยการกินโต๊ะจีนอย่างสบายใจ แต่ไม่ให้กินจานที่ 8 คือข้าวผัด จานที่ 9 คือเผือกเชื่อม จานที่ 10 คือเงาะกระป๋อง ตรงกันข้ามจงกินจานที่ 1-7 ตั้งแต่หูฉลาม เป๋าฮื้อ หมูหัน ตีนเป็ดน้ำแดง ปู ปลา อาหารทะเลอย่างเอร็ดอร่อย เพียงแต่กลับถึงบ้านกินผักสลัดตามไปสมทบก็แล้วกัน สูตรนี้เรียกว่า ล้างพิษตับอ่อน คือ ละ เลี่ยงแป้งข้าว ขนม ผลไม้ เพื่อตับอ่อนได้พักหลังจากถูกรังแกด้วยคาร์โบไฮเดรตเป็นเวลานาน แต่หันมากินเนื้อ 1 ส่วน กินผัก 2 ส่วน แล้วจะหายอ้วน ลดไขมันเลือด ทั้งรักษาเบาหวานไปในตัว

pageview  1205453    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved