HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 15/10/2556 ]
อาหารไมโครเวฟทานได้ ปลอดภัยต่อสุขภาพ

 

   รศ.พญ.สุพัตรา แสงรุจิ     ภาควิชารังสีวิทยา       คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
          เชื่อแน่ว่า ผู้บริโภคหลายคนอาจมีความสงสัยว่า อาหารแช่แข็ง (frozen food) หรือ อาหารที่มีความเย็นในระดับอุณหภูมิต่ำ (chilled food) เมื่อนำเข้าเตาอบไมโครเวฟแล้ว คุณค่าทางอาหารจะลดลงหรือไม่ หลายคน เกิดความกลัวว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากไมโครเวฟ อาจเสี่ยงต่อการเกิด โรคมะเร็ง หรือ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แท้จริงแล้วการรับประทานอาหารจากไมโครเวฟ ไม่ได้ อันตรายอย่างที่คิด หากผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับการปรุงอาหารด้วยไมโครเวฟอย่าง ถูกวิธี 
          รู้จักกับคลื่นไมโครเวฟที่ใช้ในการปรุงอาหารกันดีกว่า
          คลื่นไมโครเวฟที่ใช้ในการปรุงอาหารนั้นมาจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมือนคลื่นวิทยุ คลื่นทีวี คลื่นแสงอินฟาเรด คลื่นแสง ธรรมดา คลื่นแสงอุลตร้าไวโอเล็ต คลื่นรังสีเอ๊กซ์ และคลื่นรังสีแกมม่า คลื่นไมโครเวฟนั้น มีคลื่น สั้นกว่า คลื่นวิทยุ คลื่นทีวี แต่มีความยาวกว่าคลื่น แสงอินฟาเรด และคลื่นอื่นๆ ที่กล่าวข้างต้นคลื่นไมโครเวฟที่ใช้ปรุงอาหาร มีความถี่คลื่น 2,450 ล้านรอบต่อวินาที (หรือ 2,150 เมกะเฮิร์ทซ์) เมื่อคลื่นพุ่งไปกระทบอาหารจะถ่ายทอดพลังงานของมันให้โมเลกุลของน้ำทั้งในและนอกอาหารเกิดการสั่นสะเทือนเสียดสีกันเป็นความร้อน ทำให้อาหารสุกอย่างรวดเร็ว เมื่อคลื่นไมโครเวฟมอบพลังงานให้โมเลกุลของน้ำหมดแล้ว จะไม่มีการตกค้างหรือปะปนในอาหารเพราะคลื่นไมโครเวฟ เป็นคลื่นพุ่งผ่านแล้วมอบพลังงานให้กับสิ่งที่มันพุ่งผ่านไป เมื่อพลังงานหมดก็สลายตัวไป คงเหลือแต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการวิ่งผ่านไป คือเกิดความร้อนทำให้อาหารสุก จากนั้นคลื่นก็จะสลายตัวไปเอง ไม่เหลือทิ้งไว้ในอาหาร ฉะนั้น อาหารที่ทำให้สุกจากคลื่นไมโครเวฟ จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ 100%
          ในทางการแพทย์  มีการนำคลื่นไมโครเวฟ มาใช้ในการรักษาคนไข้เหมือนกัน แต่เป็นคลื่นที่มีความถี่คลื่นน้อยกว่าคลื่นไมโครเวฟที่ใช้ปรุงอาหาร เพราะต้องการเพียงความร้อนขนาดอุ่นๆ สบายๆ ไม่ใช่ร้อนมากขนาดจะทำให้เนื้อสุก เช่น ทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูใช้คลื่นไมโครเวฟความถี่ต่ำเพื่อใช้คลายการปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อมีความร้อนกำลังสบายๆ ทางด้านรังสีรักษา และทางระบบทางเดินปัสสาวะใช้คลื่นไมโครเวฟความถี่สูงขึ้นกว่าทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูประมาณ 915 เมกะเฮิร์ทซ์ ให้ความร้อนสูงขึ้น แต่ไม่ถึงจุดเดือด ใช้รักษาทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ตื้นๆ ร่วมกับการรักษาด้วยรังสีและยารักษามะเร็ง
          สำหรับบางคนอาจมีข้อสงสัยว่า การจ้องมองแสงสว่างขณะที่ไมโครเวฟกำลังทำงานอาจเป็นอันตรายต่อดวงตา แท้ที่จริงแล้ว ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะแสงที่เรามองเห็นในตู้ไม่ใช่แสงของคลื่นไมโครเวฟ แต่เป็นแสงของดวงไฟฟ้าที่ติดตั้งไว้ให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายในตู้ขณะเครื่องทำงานเท่านั้นเอง เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟ ไม่สามารถทะลุทะลวงผ่านผนังตู้และฝาตู้ออกมาได้ เพราะมีแรงทะลุทะลวง ต่ำกว่าคลื่นอินฟาเรด แสงธรรมดา คลื่นอุลตร้า ไวโอเล็ต และ รังสีเอ๊กซ์หรือรังสีแกมมา
          รับประทานอาหารไมโครเวฟ แบบปลอดภัย
          ผู้บริโภคบางคนที่มีความกังวลกับการรับประทานอาหารแช่แข็ง หรือ อาหารอุณหภูมิต่ำ ที่นำเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟว่าอาจมีคุณค่าสารอาหารน้อยกว่าอาหารที่รับประทานกันทั่วๆ ไป แท้ที่จริงแล้ว อาหารแช่แข็ง หรือ อาหารอุณหภูมิต่ำ เป็นวิธีการถนอมอาหาร รูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยรักษา และถนอมคุณภาพอาหารให้คงความสด สะอาด ช่วยระงับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหาร อาทิ แบคทีเรีย ยีสต์ หรือ รา ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ฉะนั้น อาหารแช่แข็ง หรือ อาหารอุณหภูมิต่ำที่นำเข้าไปอุ่นร้อนในไมโครเวฟ จึงไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้บริโภคต้องมีความเข้าใจในการใช้ไมโครเวฟอย่าง ถูกวิธี อาทิ 1.ควรเลือกภาชนะที่เหมาะสม เช่น ชามกระเบื้อง พลาสติกที่ทนความร้อนได้เกินจุดเดือด ภาชนะไม้ จานกระดาษ 2.ห้ามใช้ภาชนะโลหะทุกชนิด หรือภาชนะกระเบื้องที่มีขอบเงินขอบทอง เพราะคลื่นไม่สามารถจะพุ่งผ่านไปได้ เมื่อชนโลหะแล้วคลื่นจะสะท้อนกลับ เกิดประกายไฟดวงเล็กๆ อาจเกิดไฟลุกไหม้ ในตู้ได้ หากในตู้มีน้ำมันกระเด็นโดยรอบ 3.ตั้งอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการใช้งาน 4.เวลาอุ่นอาหารที่เป็นน้ำหรือน้ำมันเมื่อเดือดมีโอกาสกระเด็นไปติดรอบตู้ สกปรก เลอะเทอะ ยุ่งยาก ต้องเสียเวลาทำความสะอาดตู้ อาจจะใช้ฝาชี หรือพลาสติกทนความร้อนครอบอาหารเสียก่อนเริ่มเปิดใช้เครื่อง  5.ไม่ควรนำอาหารที่มีผิวมันหรือมีเปลือกแข็ง เข้าไปทำให้สุกในตู้ เพราะความร้อนทำให้อากาศภายในอาหารขยายตัว ประกอบกับไอน้ำที่เกิดขึ้นมีแรง ดันสูง จะทำให้เกิดระเบิดเสียงดังได้ ควรใช้ส้อมจิ้มผิวอาหารหรือเปลือกอาหารให้เป็นรูเสียก่อน เพื่อป้องกันการปะทุที่เกิดจากความร้อนภายในอาหารขยายตัว 6.การปรุงอาหารด้วยภาชนะที่มีฝาปิดในตัวควรเปิดฝาเล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำพุ่งออกได้หรือพลิกฝาปิดเพียงวางไว้เฉยๆ ไม่ปิดแน่น
          นอกจากนี้ ผู้บริโภคไม่ควรทิ้งอาหาร ในไมโครเวฟนานเกินไป อย่างเช่น ถ้าต้องการอุ่นอาหาร 5 นาที หลังจากผ่านไป 2-3 นาที ควรนำอาหารออกมาคน หรือ กวน เพื่อกระจายความร้อนให้ทั่วถึงเสียก่อนแล้วจึงนำกลับเข้าไปอุ่นให้ครบตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากอาหารที่ได้รับความร้อนในช่วงเวลาสั้นๆ อาจได้รับความร้อนไม่สม่ำเสมอ หรือ อาหารที่ชิ้นหนาหรือใหญ่มาก คลื่นไมโครเวฟไม่สามารถผ่านเข้าไปถึงใจกลางของอาหารได้ ทำให้อาหารสุก ได้ไม่เท่ากัน อาหารร้อนมากในบางจุด และ ดิบในบางจุด แบคทีเรียบางชนิดอาจยังมีชีวิตอยู่ได้ จึงควรหั่นหรือตัดอาหารให้มีขนาด เหมาะสม จัดอาหารให้กระจายห่างกัน ไม่รวมเป็นกระจุกเดียว กลับด้านให้สุกทั่วกัน
          การดูแลมีส่วนสำคัญมากในเรื่องของความปลอดภัย เมื่อใช้แล้วต้องเช็ดทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้เศษอาหารกระเด็นค้างอยู่ในตู้เป็นระยะเวลานานๆ เพราะความเค็มของอาหารจะทำให้เหล็กตู้เป็นสนิมและเกิดเป็นรอยทะลุ ทำให้คลื่นไมโครเวฟรั่วออกมาเกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้ ห้ามใช้ของมีคมขูดหรือขัดตู้
          ไมโครเวฟ ถ้ารู้จักใช้อย่างถูกวิธี จะมี ประโยชน์มาก เพราะสะดวก รวดเร็ว ประหยัด เหมาะกับชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน ฉะนั้น อย่าลืมซื้อเครื่องที่มีมาตรฐาน มีการรับรองคุณภาพ อ่านคู่มือก่อนใช้ และเลือกภาชนะที่ใช้ให้เหมาะสม หากเครื่องดีไม่มีรอยรั่ว อันตรายจากไมโครเวฟ จะไม่เกิดขึ้นเลย 100%

pageview  1205891    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved