HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 07/10/2556 ]
แนะกินเจปลอดภัยจากสารพิษ

    กรุงเทพฯ * ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารแนะวิธีป้องกันสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ก่อนนำไปประกอบอาหารเจ โดยควรล้างให้สะอาดและเลือกซื้อผักที่ไม่สด-ไม่เขียวเกินไป รวมถึงควรนำผักแช่น้ำเกลือทิ้งไว้ 15 นาทีเพื่อลดสารตกค้าง หากไม่มั่นใจให้ลวกน้ำอีกครั้ง เผยร้านอาหารเจหลายร้านมักใช้สารเคมีเพื่อคงความสดใหม่ของผักขณะขนส่ง โดยเฉพาะผักประเภทหัว อาทิ หัวไช้เท้า แครอต กะหล่ำปลี รวมถึงถั่วฝักยาว เสี่ยงสารตกค้างมากสุด ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนให้ระวังสารเคมีในเห็ดฟางอันตรายถึงชีวิต
          ระหว่างวันที่ 5-13 ตุลาคมนี้ เป็นช่วงเวลาของเทศกาลกินเจ ประจำปี 2556 โดยหลายจังหวัดได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งมีผู้คนเข้าร่วมเทศกาลบุญในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ ละบาป พร้อมกับสร้างบุญกุศล แต่อีกด้านหนึ่งของเทศกาลบุญครั้งนี้ ได้มีการออกมาเตือนในเรื่องความปลอดภัยของอาหารเจที่มีขายอยู่ทั่วไปในช่วงนี้ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. โดยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ของ อย. (www.fda.moph.go.th) ได้มีการประกาศเตือนให้ผู้นิยมรับประทานอาหารเจให้ระวังปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือสารฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนมากับผักและผลไม้ในช่วงนี้
          ขณะที่ อ.ศรีสมร คงพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย กล่าวว่า เทศกาลกินเจเป็นเทศกาลที่ดี เป็นโอกาสให้คนได้ลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ แล้วหันมากินผัก-ผลไม้แทน ซึ่งได้ทั้งบุญและสุขภาพที่ดี แต่ก็ควรเลือกผักและผลไม้ก่อนนำมาประกอบอาหารเจด้วย โดยเฉพาะคนเมืองที่ผักส่วนมากถูกส่งมาจากสวนในต่างจังหวัด ซึ่งกว่าจะเดินทางมาถึงต้องใช้เวลานาน ทำให้ต้องใช้สารเคมีเพื่อคงความสดใหม่ของผักและผลไม้เอาไว้ ซึ่งเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารพิษอย่างมาก ทั้งนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันสารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลง หรือสารรักษาความสดของผักต่างๆ ก็คือ ก่อนนำผักหรือผลไม้มาประกอบอาหารควรล้างให้สะอาดหลายๆ ครั้ง โดยแกะเปลือกของผักออกให้ทั่ว และควรนำผักมาแช่น้ำเกลือทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีก่อนนำไปประกอบอาหาร ซึ่งจะช่วยลดสารตกค้างได้ถึงร้อยละ 70-80 แต่ถ้าต้องการให้ปลอดภัยมากกว่านั้นก็ควรนำผักไปลวกน้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อความมั่นใจ เพราะน้ำร้อนจะเป็นช่วยกำจัดสารพิษตกค้างได้ดีที่สุด แต่ต้องยอมสูญเสียรสชาติบางอย่างไป เช่น ความกรอบ สด และความอร่อยของผัก-ผลไม้ต่างๆ ส่วนการเลือกซื้อผัก-ผลไม้นั้นไม่ควรซื้อที่มีลักษณะแข็งหรือกรอบจนเกินไป ต้องไม่มีกลิ่นฉุนแสบจมูก ไม่มีเชื้อรา ไม่มีสีผิดจากธรรมชาติ ไม่มีคราบสีขาวของสารฆ่าแมลงตกค้างอยู่ และควรเลือกซื้อผักที่มีรูพรุน เพราะแสดงว่าผักนี้ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
          "ร้านขายอาหารเจหลายร้านที่มีมากในช่วงนี้มักใช้สารบอแรกซ์ สารฟอร์มาลิน เกลือฟอสเฟต และสารเคมีอื่นๆ เพื่อรักษาความสดใหม่ของผัก-ผลไม้เอาไว้ เพราะการขนส่งต้องใช้เวลา ทำให้ผู้นิยมบริโภคอาหารเจอาจเสี่ยงต่อการรับสารพิษตกค้างที่มากับผักและผลไม้ได้ โดยเฉพาะผักประเภทหัว อาทิ หัวไช้เท้า แครอต กะหล่ำปลี รวมถึงถั่วฝักยาว เหล่านี้จะเสี่ยงต่อสารเคมีตกค้างมากที่สุด เนื่องจากอาศัยอยู่ใต้ดินเป็นที่รองรับสารเคมีโดยตรง การล้างให้สะอาดและเลือกซื้อผักที่ไม่สด ไม่เขียว ไม่กรอบเกินไป เพราะความสดและเขียวเกินไปอาจได้มาจากการใช้สารเคมีของพ่อค้าก็เป็นได้ นอกจากนี้ การทำอาหารเจกินเองเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการซื้อกิน เพราะเมนูอาหารเจทำได้ง่ายใช้เวลาศึกษาไม่นานก็ทำได้แล้ว แต่หากจำเป็นต้องซื้อตามร้านก็ควรเลือกอาหารที่ไม่มันเกินไป และไม่ควรทานเมนูที่ซ้ำกันบ่อยๆ ด้วย" อ.ศรีสมรกล่าว
          ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยยังกล่าวอีกว่า การรับประทานอาหารเจจำพวกแป้งและไขมัน เช่น ผัดหมี่ หรือแกงที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ไขมันอุดตัน นิ่วในถุงน้ำดี และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจอยู่แล้วจะเสี่ยงไขมันอุดตันในเส้นเลือดมากกว่าคนปกติ เพราะอาหารพวกแป้งปกติจะถูกแปลงไปเป็นพลังงานเมื่อขยับร่างกายอยู่เสมอ ซึ่งหากเป็นคนไม่ค่อยได้ขยับร่างกายหรือออกกำลัง ก็ไม่ควรรับประทานอาการประเภทดังกล่าว ดังนั้นผู้ที่ทานเจจะต้องออกกำลังกายประกอบด้วย
          ด้านนายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง กลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นหลักที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องอาหารในช่วงเทศกาลกินเจนี้ ได้แก่ การพบยีนของเนื้อสัตว์ปนเปื้อนในอาหารเจ โดยเฉพาะอาหารเจที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ต่างๆ อาจพบการนำยีนของสัตว์จริงมาผสมเพื่อให้มีความเหมือนมากที่สุด ซึ่งปีที่ผ่านมาพบเป็นจำนวนมาก ต่อมาคือประเด็นด้านโภชนาการ ได้แก่ อาหารจำพวกแป้งที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน ฯลฯ เนื่องจากอาหารเจมักมีรสชาติเค็มและมีไขมันมาก อาจเสี่ยงเกิดโรคเส้นเลือดอุดตัน ความดันสูง หัวใจล้มเหลวได้ รวมถึงประเด็นเรื่องเห็ดฟาง ที่พบว่ามีการใช้สารเคมีหลายชนิดเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของเห็ดให้ทันต่อความต้องการจำหน่ายในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะสารคาร์โบฟูรานและเมโทมิล ที่มีอันตรายถึงชีวิตหากได้รับในปริมาณมาก
          "ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศเลิกใช้สารเคมีประเภทนี้ไปแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในผัก-ผลไม้ โดยเฉพาะเห็ดต่างๆ นั้นส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในทันใด มักจะเป็นลักษณะของการสะสมในร่างกายมากกว่า จึงยากต่อการตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการร้านอาหารเจต้นเหตุ แต่หากบางรายที่ได้รับสารเคมีชนิดเข้มข้นและรุนแรงมากก็จะมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน เสียการทรงตัว และอาจถึงขั้นเสียชิวิตได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ หากตลอดช่วงเทศกาลผู้บริโภคมีร้านที่ทานประจำและพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติ ขอแนะนำให้เก็บหลักฐานเอาไว้ อาทิ ใบเสร็จรับเงินการซื้อขายอาหารเจ ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ายา ฯลฯ เพื่อที่จะนำไปเรียกร้องค่าเสียหายในภายหลังกับผู้ประกอบการเหล่านั้นได้ โดยประชาชนสามารถมาแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อนำข้อมูลหลักฐานไปเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ประกอบการตามขั้นตอนต่อไป" นายพชรกล่าว.


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved