HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 03/10/2556 ]
กรมวิทย์ฯ พัฒนาการตรวจเชื้อ "วัณโรค" ด้วยเทคนิคอินเตอร์เฟอรอนแกมมา เป็นรายแรกของไทย รู้ผลเร็ว-การรักษามีประสิทธิภาพ-เชื้อไม่ดื้อยา-ผู้ป่วยหายจากวัณโรค

   WHO ชี้!! 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกติดเชื้อวัณโรค 8-10 ล้านคน เป็นกลุ่มที่กำลังแพร่เชื้อ และในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 8.4 ล้านคน ร้อยละ 95 อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยผู้ให้บริการบนรถ บขส.และพนักงานขับรถถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคและแพร่เชื้อเพราะสัมผัสผู้โดยสารจำนวนมาก และต้องใช้เวลาอยู่บนรถนานแต่การถ่ายเทอากาศในรถมีจำกัดกรมวิทย์ฯจับมือ บขส.ตรวจค้นหาผู้ป่วยเป็นวัณโรคหรือผู้ติดเชื้อแฝง โดยใช้เทคนิคการตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมา รู้ผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ช่วยให้การควบคุมวัณโรคได้ผลดีเพราะจะช่วยให้การรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพไม่เกิดปัญหาวัณโรคดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยพันระยะแพร่เชื้อและหายจากวัณโรค
          นางเบญจวรรณ เพชรสุขศิริ นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นปี 2556 ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จับมือกับบริษัทขนส่งจำกัด(บขส.) จัดโครงการประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้ให้บริการบนรถโดยสาร บขส.ให้แก่ พนักงานขับรถ และพนักงานบริการบนรถ บขส.ที่สมัครใจเพื่อตรวจค้นหาผู้ป่วยเป็นวัณโรค หรือผู้ติดเชื้อวัณโรคซึ่งยังไม่แสดงอาการ(วัณโรคแฝง) เนื่องจากพนักงานขับรถและผู้ให้บริการบนรถบขส.เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคและแพร่เชื้อเพราะสัมผัสผู้โดยสารจำนวนมาก และต้องใช้เวลาอยู่บนรถนานแต่การถ่ายเทอากาศในรถมีจำกัด
          ในการตรวจค้นหาผู้ป่วยเป็นวัณโรคหรือผู้ติดเชื้อวัณโรคซึ่งยังไม่แสดงอาการในครั้งนี้กรมวิทย์ฯ ได้ใช้เทคนิคการตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมามาจากตัวอย่างเลือด ซึ่งมีความจำเพาะสูงและรู้ผลเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ถือเป็นหน่วยงานแรกที่ทำการศึกษาวิจัยและนำมาใช้ เพื่อการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อวัณโรคในประเทศไทยด้วยระบบคุณภาพสากลใช้ตรวจการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่นผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวีตรวจวินิจฉัยผู้สงสัยเป็นวัณโรคหรือผู้ป่วยวัณโรคที่เก็บเสมหะตรวจไม่ได้ รวมทั้งผู้ป่วยวัณโรคนอกปอด เป็นต้น การดำเนินโครงการดังกล่าวนี้เป็นกิจกรรมร่วมหยุดยั้งวัณโรค และทำให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจและมีความปลอดภัยมากขึ้นเมื่อใช้บริการ
          นางเบญจวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการทดสอบเลือดในโครงการนี้ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,252 ตัวอย่าง พบว่า อัตราการ ติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้ขับรถและพนักงานที่ให้บริการบนรถโดยสารสาธารณะมีผลบวก ติดเชื้อร้อยละ 33.15 ไม่พบการติดเชื้อ ร้อยละ 66.85 พนักงานชายให้ผลบวกร้อยละ 34.52 พนักงานหญิงให้ผลบวก ร้อยละ 23.75 เมื่อวิเคราะห์ตามอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 41-50 ปี ให้ผลบวกมากที่สุด ร้อยละ 34.91 และจะพบในผู้ที่มีอายุงานระหว่าง 6-10 ปี มากที่สุด
          "ทั้งนี้ ผู้ที่ตรวจพบการติดเชื้อหรือผู้ป่วยวัณโรคจะมีการส่งไปเข้ารับการรักษาตามสิทธิ์การรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแต่ละรายและจะมีการออกใบรับรองผลการตรวจให้สำหรับโชเฟอร์และพนักงานที่มีสุขภาพดีปลอดจากวัณโรคการวินิจฉัยวัณโรคด้วยเทคนิคการตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมานี้ ช่วยให้ผลที่ได้มีความถูกต้อง รวดเร็ว ช่วยให้การควบคุมวัณโรคได้ผลดี เพราะจะช่วยให้การรักษาวัณโรคด้วยยาที่ได้ผลต่อเชื้อมีประสิทธิภาพไม่เกิดปัญหาวัณโรคดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยพ้นระยะแพร่เชื้อและหายจากวัณโรค ตัดการแพร่เชื้อไปยังคนปกติ หรือกลุ่มเสี่ยงต่างๆ นอกจากการค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วถูกต้อง แม่นยำ ร่วมกับการให้การรักษาที่ได้ผลรวดเร็วแล้วการสร้างความตระหนักถึงการดูแลสุขภาพประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อวัณโรค และการปฏิบัติตนในที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและการตรวจการติดเชื้อระยะแรก และรู้จักสร้างเสริมสุขภาพที่ดีเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันก็จะช่วยให้การควบคุมป้องกันการแพร่ติดต่อเชื้อวัณโรคได้ผลมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นด้วย" นางเบญจวรรณ กล่าวในตอนท้าย
 


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved