HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 20/09/2556 ]
หยุดพฤติกรรมทำซ้ำเดิมๆ-บริโภคธัญพืชเทคนิคช่วยลด'ออฟฟิศซินโดรม'ในวัยรุ่น

  เพราะโรคภัยไข้เจ็บไม่เข้าใครออกใคร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะพบว่า เด็กวัยรุ่นยุคใหม่ในช่วง 15 ปี หรือ GEN-Y นั้น ป่วยเป็นโรคยอดฮิตในหมู่คนวัยทำงานอย่าง "ออฟฟิศซินโดรม" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเนื่องมาจากการติดเกมออนไลน์ การนั่งดูซีรีส์ต่อเนื่อง หรือการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ซึ่งหากปล่อยปละละเลยอาจสิ่งผลต่อโรคเรื้อรัง อย่างอาการนอนไม่หลับ เบาหวาน หัวใจ ตามมาได้โดยไม่รู้ตัว ในงาน "Feel Good Together" ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นโดยบู๊ทส์ รีเทล (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามชั้นนำ ล่าสุดได้เชื้อเชิญนายแพทย์สมบูรณ์ รุ่งพรชัย ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และเภสัชกรเสกสม ดีนุช ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ มาร่วมเผยพฤติกรรมความเสี่ยงโรค "ออฟฟิศซินโดรม" ในหัวข้อ "รอบรู้เรื่องปวด" ไว้น่าสนใจ
          นายแพทย์สมบูรณ์เผยว่า ก่อนหน้านี้ 'ออฟฟิศซินโดรม' จัดเป็นโรคฮิตของหนุ่มสาวออฟฟิศวัยทำงานช่วงอายุ 20-30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว แต่ล่าสุดพบโรคนี้ได้กับกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่อายุตั้งแต่ 15 ปีที่มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย และมีไลฟ์สไตล์ในการเรียนหรือทำงานแบบเดิมซ้ำๆ ขยับตัวน้อย เช่น ติดออนไลน์ ชอบดูซีรีส์ต่อเนื่องหรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ เฉลี่ย 2-6 ชั่วโมง/วัน หรือกลุ่มคนที่ติดมือถือหรือ Note Pad ที่ต้องนั่งก้มหน้าและเพ่งสายตาเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่กำลังเตรียมตัวสอบซึ่งอ่านหนังสือ เรียนหนังสือในท่านั่งเดิมเป็นเวลานานอีกด้วย
          คุณหมอกล่าวต่อว่า ไม่ควรชะล่าใจเกี่ยวกับอาการปวดที่พบเบื้องต้น โดยเฉพาะอาการปวดตึงที่คอ บ่า และไหล่ การปวดหลัง หรือปวดศีรษะ เป็นอาการที่ไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่หารู้ไม่ว่าอาการเบื้องต้นเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเซ็กซ์เสื่อม โรคข้อและกล้ามเนื้ออักเสบ ปัญหากระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก เป็นต้น จนกลายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมในที่สุด
          "ดังนั้น การป้องกันและการเอ็กเซอร์ไซส์ เพื่อลดอาการปวดเมื่อยของผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมนั้น นายแพทย์สมบูรณ์ระบุไว้ว่า "ผมอยากให้เริ่มง่ายๆ เพียงสังเกต และใส่ใจกับอาการปวดตามบริเวณคอ หลัง ไหล่ ขา ว่าเริ่มเป็นอาการปวดเรื้อรังหรือไม่ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำเดิมๆ ซ้ำๆ ด้วยการออกกำลังกาย เช่น บริหารคอด้วยการก้มเงยและหมุนคอ ยืดกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ ท่าละ 5-10 ครั้ง 10-30 วินาที ประมาณวันละ 2 รอบ สำหรับคนติดคอมพิวเตอร์-ดูซีรีส์ออนไลน์ ทุกๆ 2 ชั่วโมง ให้บริหารสายตาด้วยการกลอกตาขึ้นลง มองวิวไกลๆ เพื่อพักสายตา หรือคนที่ชอบพิมพ์คอมพิวเตอร์ แช้ตมือถือ หรือเล่น Note Pad ให้ลองหาลูกบอลฟองน้ำมาบีบเบาๆ ประมาณ 15-20 ครั้ง ให้ได้ 3 เซต/วัน และที่สำคัญควรใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ด้วยการรับประทานน้ำมันปลาและโอเมกา 3 เพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อและอักเสบ กินธัญพืชพวกแฟลกซ์ซีด พบมากในลูกวอลนัตเพื่อเสริมโอเมกา 3 อีกทั้งยังมีแมกนีเซียมสูงช่วยลดอาการปวด ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คน GEN-Y รุ่นใหม่ห่างไกลโรคออฟฟิศซินโดรมได้ครับ" คุณหมอกล่าว
          ด้านเภสัชกรเสกสม ดีนุช กล่าวเสริมท้ายว่า ทุกวันนี้จะพบคนไข้ที่ป่วยจากอาการปวดของโรคออฟฟิศซินโดรมมากขึ้น จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ทุกคนเริ่มต้นดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง หรือสามารถมาปรึกษากับเภสัชกรที่ร้านบู๊ทส์ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน "ร้านยาคุณภาพ" จากสภาเภสัชกรรม เพื่อรับคำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพของตัวเอง.


pageview  1205958    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved