HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 03/09/2556 ]
บอกลาปัญหาและลดการสูญเสียขาผู้ป่วยเบาหวานต้องหมั่นสำรวจเท้า

  "การดูแลเท้า" สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานถือเป็นสิ่งที่ตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงญาติสนิทที่คอยดูแลควรให้ความใส่ใจ เพราะหากปล่อยปละละเลยอาจส่งผลให้เกิด "แผลเรื้อรัง" ที่บริเวณฝ่าเท้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจนำมาซึ่งการสูญเสียขา หรือ "ถูกตัดขา" ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตภายหลังก็เป็นได้ ในงานอบรมให้ความรู้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน "เท้าจ๋า ...เบาหวานขอโทษ" จากศูนย์เบาหวาน รพ.หัวเฉียว อรอุมา แสงศรี หัวหน้าพยาบาล แผนกคลินิกประกันสังคม รพ.หัวเฉียว ได้รวบรวมข้อปฏิบัติในการดูเลเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตลอดจนท่านวดออกกำลังกายบริเวณเท้า เพื่อสร้างความผ่อนคลาย และช่วยให้หลอดเลือดไปเลี้ยงบริเวณอวัยวะส่วนปลายของผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
          หัวหน้าพยาบาลอธิบายถึงสาเหตุหลักๆ ของการเกิดแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานไว้เบี้องต้นว่า มีสาเหตุมาจากระบบปลายประสาทส่วนปลายของเท้าเสื่อม จึงทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนปลายมือและเท้าตีบตัน ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวเมื่อสัมผัสกับวัตถุมีคมที่อาจก่อให้เกิดแผล ประกอบแรงกดจากนิ้วเท้าที่เบียดเกยกันจนเท้าผิดรูปจากการใส่รองเท้าที่ผิดสุขลักษณะ หรือแม้แต่อุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ก็เสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อบริเวณเท้าได้เช่นกัน ดังนั้น 10 ข้อปฏิบัติในการดูแลเท้าเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้น ถือเป็นการดูแลตนเองเพื่อป้องกันแผลเรื้อรังแต่เนิ่นๆ และลดการสูญเสียอวัยวะของผู้ป่วยลงได้
          พยาบาลอรอุมากล่าวว่า 1.ผู้ป่วยควรล้างเท้าด้วย สบู่และน้ำสะอาดทุกวัน จากนั้นใช้ผ้าแห้งเช็ดบริเวณซอกนิ้วเท้า 2.หมั่นตรวจดูเท้าทุกวันว่าเล็บขบ หรือมีแผลใต้ฝ่าเท้าหรือไม่ โดยการใช้กระจกส่องบริเวณใต้เท้า เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีอาการชาจนไม่รู้สึกเจ็บ หรือทราบว่าตัวเองมีแผลที่เท้า 3.ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรทาโลชั่น (ชนิดใดก็ได้) บริเวณเท้าทั้ง 2 ข้าง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับเท้า เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการเท้าแห้งอยู่ตลอดเวลา แต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณซอกเท้า เพราะอาจทำให้เกิดอาการอับชื้น และเกิดแผลผุพอง ได้ง่าย 4.ควรสวมถุงที่ทำจากผ้าฝ้ายเพื่อ ป้องกันอุบัติเหตุ ในกรณีที่รองเลื่อนหลุดจากเท้าโดยไม่รู้ตัว แนะนำว่าควรกลับถุงเท้าก่อนใส่  เพื่อใช้ด้านเรียบของถุงเท้าห่อหุ้มเท้าไว้ 5.ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรองเท้าที่หุ้มส้น เช่น รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าที่มีสายคาดด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าของผู้ป่วยสัมผัสกับพื้น หรือวัตถุ ของแข็งโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว
          ข้อปฏิบัติลำดับที่ 6.ควรหลีก เลี่ยงการแช่เท้าในน้ำอุ่น เพราะเสี่ยงต่อการเกิดแผลผุพองได้ง่าย 7.ผู้ป่วยเบา หวานควรตัดเล็บในลักษณะตรง และตะไบมุมเล็บเป็นแนวตรงเช่นเดียวกัน    เพื่อป้องกันเล็บขบ ขณะเดียวกันพยาบาลอรอุมาแนะนำว่าไม่ควรไปทำเล็บที่ร้านเสริมสวย เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณจมูกเล็บได้
          8.ผู้ป่วยควรหมั่นนวดเท้าอยู่เสมอ เพื่อให้เลือดไหลเวียนดี
          9.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะไปดักจับตามเส้นเลือด จึงเป็นสาเหตุให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายของผู้ป่วยได้ไม่ดี และทำให้ผู้ป่วยมีอาการความดันโลหิตสูง 10.หากสังเกตพบแผลที่เท้า แนะนำว่าผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาแผล เพราะหากผู้ป่วยมีอาการน้ำตาลสูงร่วมด้วยจะยิ่งทำให้แผลหายช้าขึ้น เนื่องจากแบคทีเรียจะเข้าไปกัดกินน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย
          มาถึงขั้นตอนการออกกำลังกายเบาๆ ที่ผู้ป่วยน้ำตาลในเลือดเกินควรทำเป็นประจำทุกวัน เพื่อช่วยออกกำลังกายบริเวณส้นเท้า และสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อใต้ฝ่าเท้านั้น พี่อ้ออธิบายว่า อันดับแรกให้ยื่นเท้าซ้ายไปด้านหน้า พร้อมกับยืนงอเท้า และยื่นขาขวาไปข้างหลังโดยให้ขาหลังตึง พร้อมๆ กับนับ 1-5 จากนั้นให้เปลี่ยนขาและนับ 1-5 เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเบาหวานควรทำอย่างน้อยวันละ 4 รอบ เริ่มจากเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน
          จบลงด้วยการ "นวดเท้า" ของผู้ป่วยเบาหวานเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด งานนี้พยาบาลวิชาชีพระบุว่า ต้องนวดตอนตื่นนอนใหม่ๆ เป็นเวลา 5 นาที โดยที่ยังไม่ก้าวเท้าลงจากเตียง จะทำให้ได้ผลและรู้สึกสบายเท้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ผู้ป่วยสามารถทำได้เองหรือให้ผู้ดูแลช่วย เริ่มจาก 1.ให้ใช้สองมือกดลงไปที่บริเวณใต้ฝ่าเท้าใน ลักษณะขวาง เริ่มจากเท้าด้านซ้ายไล่ไปด้านขวาจนทั่วบริเวณใต้ฝ่าเท้า 2.เปลี่ยนมานวดบริเวณหลังเท้า โดยใช้สองมือกดเท้าในลักษณะแนวขวางเช่นเดียวกัน และก่อนนวดทุกครั้งควรทาโลชั่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับบริเวณเท้า.


pageview  1205855    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved