HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 01/08/2556 ]
ร่างกายต้องการแคลเซียมทุกวัยและทุกวัน หัวใจสำคัญของการป้องกันโรคกระดูกพรุน

   กระดูกพรุน ถ้าไม่บอกก็คงไม่รู้ว่า เป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับสองรองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด จากรายงานขององค์การอนามัยโลก เป็นโรคที่เรียกกันอีกชื่อว่า "มฤตยูเงียบ" เพราะอาการของโรคจะรุกคืบตลอดเวลา โดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ เลย กว่าจะรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อของโรค ก็เมื่อสูญเสียมวลกระดูก หรือกระดูกหักไปเสียแล้ว
          ที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่งคือ กระดูกพรุนกำลังคุกคามมนุษยชาติมากขึ้นเรื่อยๆ หากดูจากอัตราการหักของกระดูกสะโพกจากโรคนี้ ซึ่งประมาณการว่าจะเพิ่มจาก 1.7 ล้านคนในปี 2533 เป็น 6.3 ล้านคนในปี 2593 โดยประชากรที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย
          รศ.พญ.วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยในการประชุมวิชาการเรื่อง Calcium Today : Less is More จัดโดย บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด เพื่อให้ข้อมูลความรู้เรื่องแคลเซียมกับโรคกระดูกพรุนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า โรคกระดูกพรุนมักตรวจพบหลังจากคนไข้กระดูกหักมาแล้ว การตรวจจะทำได้โดยเครื่องมือวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเท่านั้น เครื่องเอกซเรย์ธรรมดาทั่วๆ ไป ไม่สามารถวัดหาปริมาณความหนาแน่นของมวลกระดูกได้ และถ้าพบลักษณะกระดูกพรุนจากการเอกซเรย์กระดูก ต้องรู้ว่าในขณะนั้นกระดูกได้พรุนไปแล้วหนึ่งส่วนสามของกระดูกปกติ เพราะการตรวจหามวลกระดูกในช่วงอายุก่อน 65 ปี ก็จะไม่แสดงปริมาณความหนาแน่นของมวลกระดูกที่แท้จริง จึงเรียกโรคนี้ว่า "มฤตยูเงียบ"
          และเมื่อโรคกระดูกพรุนมาเยือนจนถึงขั้นกระดูกหักแล้ว คนไข้จะเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ตามมาอีกมาก เช่น โรคเรื้อรังของระบบหายใจ แผลกดทับ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อ และอาจเสียชีวิตในที่สุด ในกรณีที่สามารถผ่าตัดรักษาได้ ผลของการรักษาอาจไม่ทำให้กลับมาเป็นปกติ หรือทำงานตามเดิมไม่ได้ ร้ายแรงกว่านั้น อาจเกิดอาการแทรกซ้อนในระหว่างผ่าตัด ทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ จึงนับเป็นการสูญเสียทรัพยากรของทั้งครอบครัวและส่วนรวม
          กลุ่มเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนนั้น คุณหมอวิไลกล่าวว่า คือ ผู้หญิงที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือย่างเข้าสู่วัยทองไปแล้วเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้โรคกระดูกพรุนพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีมวลกระดูกน้อยกว่า ยิ่งเมื่อหมดประจำเดือน ร่างกายจะยิ่งขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ช่วยทำให้แคลเซียมมาจับที่เนื้อกระดูก กระดูกจึงบางลง เห็นได้จากสภาพร่างกายที่หลังโก่งหรือความสูงลดลง ภายหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว 5-10 ปี นอกจากนี้ก็คือเกิดจากกรรมพันธุ์ เช่น คนที่มีน้ำหนักน้อย คนผิวขาว ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกบางหรือกระดูกพรุน หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมของผู้ที่กินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ คนสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ ดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
          รศ.พญ.วิไลกล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีหนทางในการรักษาโรคนี้ ที่ทำได้ผลมีเพียงแค่หยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูก และรักษาอาการกระดูกหักเท่านั้น วิธีการรักษาที่ใช้อยู่ก็คือการเสริมแคลเซียม การให้ฮอร์โมนทดแทน และการให้วิตามินดี เป็นต้น  "วิธีที่ดีสุดก็คือ การสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก โดยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และในปริมาณเหมาะสม โดยเฉพาะผักใบเขียวและนม ซึ่งเป็นสารอาหารที่ให้แคลเซียมดีที่สุด เด็กควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว (500 ซีซี) จนถึงวัยหนุ่มสาว เพื่อเพิ่มมวลกระดูก โดยในกลุ่มเด็ก อายุ 10-19 ปี รวมทั้งกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ต้องการแคลเซียมมากกว่ากลุ่มอื่น ประมาณวันละ 1,200 มก. นอกจากนั้นในกลุ่มผู้ใหญ่ อายุ 20 ปี-มากกว่า 60 ปี ต้องการแคลเซียม 800-1,000 มก./วัน นอกจากนั้นควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำอัดลม"
          คนส่วนใหญ่มักประสบปัญหาการขาดแคลเซียมมากกว่าปัญหาการรับประทานแคลเซียมเกิน เนื่องจากการเลือกรับประทานเฉพาะอาหารที่ชอบ ทำให้ รับประทานอาหารซ้ำๆ ไม่หลากหลาย จำเป็นต้องเสริมด้วยแคลเซียม นอกจากนี้การขาดแคลเซียมอาจเกิดจากปัญหาการดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร ทำงานได้ไม่ดี ที่มีสาเหตุจากสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล หรือปัญหาในกลุ่มคนสูงอายุมากๆ ที่มีปัญหาการดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร เนื่องมาจากวัย ควรเสริมด้วยแคลเซียมในรูปแบบของเหลว ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ง่ายกว่า
          สรุปได้ว่าแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสมนั้นเอง เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะช่วยปกป้องมนุษย์จากมฤตยูเงียบอย่างโรคกระดูกพรุน แต่คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์ทุกคนว่า ในแต่ละวันร่างกายเกิดการสร้างและทำลายมวลกระดูกอยู่ตลอดเวลา ตอนเยาว์วัยร่างกายจะสร้างมวลกระดูกมากกว่าทำลาย แต่เมื่ออายุยิ่งมากขึ้นเท่าไร การสร้างมวลกระดูกจะลดน้อยลง และเกิดการทำลายมวลกระดูกมากขึ้น
          จากการศึกษาพบว่า แคลเซียมช่วยลดการทำลายกระดูกได้ร้อยละ 1-2 ต่อปี แม้หมดประจำเดือนไปนานแล้วกว่า 10 ปี แต่ทั้งนี้ แคลเซียมเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทุกวัย และควรทานทุกวัน หากคิดมารับประทานแคลเซียมเพื่อต้านโรคกระดูกพรุนเอาเมื่อสูงวัยแล้ว นั่นย่อมสายเกินไป นอกจากนี้การศึกษายังพบด้วยว่า แคลเซียมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากรับประทานร่วมกับวิตามินดี เพราะวิตามินดีจะช่วยในการดูดซึมแคลเซียม รักษาระดับของแคลเซียมในเลือด ทำให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง และลดอัตราการล้มในผู้สูงอายุ.


pageview  1206088    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved