HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 29/07/2556 ]
สิทธิชาวสีรุ้งตามระบบกฎหมาย จากปัจจุบันสู่อนาคตยังต้องรอ


          ปัจจุบันแม้สังคมไทยจะให้การยอมรับ และเข้าใจความแตกต่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าในอดีต แต่ในการใช้ชีวิตของบุคคลเพศหลากหลายก็อาจประสบปัญหาความยุ่งยากนานัปการ และมีผลให้การดำเนินชีวิตของบุคคลกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างเสมอภาคกับบุคคลที่จำแนกเพศเป็นชายหญิง
          มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ร่วมกับมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีนำเสนอผลงานวิจัย "บุคคลเพศหลากหลายในระบบกฎหมาย" โดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมชั้น 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆ นี้
          รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ผู้ศึกษาวิจัยเรื่อง "บุคคลเพศหลากหลายในระบบกฎหมาย" กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าเพศวิถีของบุคคลเพศหลากหลายหรือชาวสีรุ้ง เช่น บุคคลที่เป็นกะเทย อันหมายถึงบุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีอารมณ์ความรู้สึกหรืออัตลักษณ์ในทางเพศเป็นแบบหญิง รวมทั้งอาจมีการผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง แม้กฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นความผิด แต่บุคคลดังกล่าวก็ย่อมประสบกับปัญหาทั้งในด้านของการระบุตัวตนในทางกฎหมายว่าจะมีสถานะเป็นบุคคลเพศใด
          เนื่องจากกฎหมายในปัจจุบันของประเทศต่างๆ จำนวนมากยอมรับการจำแนกเพศออกเป็นเพียงชายและหญิงตามเพศกำเนิด หากไม่มีกฎหมายที่ยอมรับให้มีการเปลี่ยนเพศในทางกฎหมายเกิดขึ้น บุคคลเพศหลากหลายก็ยังคงต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการระบุตัวตน และก็จะมีผลสืบเนื่องต่อการเข้าถึงสิทธิและหน้าที่ในทางกฎหมายจำนวนมาก ที่มักมีการกำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับเพศใดเพศหนึ่ง
          หรือในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของคู่รักเพศเดียวกัน หากระบบกฎหมายไม่ได้ยอมรับการใช้ชีวิตคู่ของคู่รักเพศเดียวกันว่า เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการสมรสของคู่รักต่างเพศ ก็ย่อมมีผลต่อบุคคลเพศหลากหลายอย่างมาก เพราะการยอมรับให้การใช้ชีวิตคู่ของบุคคลสองคนในฐานะของการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้เกิดสถานะของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ในฐานะของครอบครัว และนำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ในทางกฎหมายอย่างสำคัญ อันมีความแตกต่างอย่างมากกับการอยู่ร่วมกันของบุคคลที่ไม่ได้มีการสมรสเกิดขึ้น
          บุคคลเพศหลากหลายต้องเผชิญกับข้อจำกัดอย่างกว้างขวาง และปรากฏขึ้นเป็นปัญหารูปธรรมในด้านต่างๆ จำนวนมาก ไม่ว่าสิทธิในการเข้าทำงาน การใช้บริการในพื้นที่สาธารณะที่มีการจำแนกเพศชาย หญิง การระบุถึงตัวตน/เพศในทางกฎหมาย การแต่งกาย การบริจาคอวัยวะให้กับบุคคลที่ใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อรักษาโรคภัยเฉพาะบางอย่าง เป็นต้น ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ในท่ามกลางปัญหาที่บุคคลเพศหลากหลายต้องเผชิญในทาง กฎหมายนั้น มาจากปัญหาพื้นฐานที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ ประการแรก การจำแนกเพศเป็นชายและหญิงตามเพศกำเนิดอย่างตายตัว ประการที่สอง ระบบครอบครัวซึ่งยอมรับเฉพาะการสมรสของบุคคลต่างเพศเท่านั้นที่จะเป็นการ สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย
          ซึ่งได้มีความเคลื่อนไหวที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในระบบกฎหมายภายในของหลายประเทศ โดยเป็นการแก้ไขในประเด็นสำคัญทั้งสองประเด็นนี้ กล่าวคือ มีการบัญญัติกฎหมายที่รับรองการเปลี่ยนแปลงเพศของบุคคลให้สามารถกระทำได้ บุคคลไม่จำเป็นต้องถูกผูกติดกับเพศกำเนิดแต่เพียงอย่างเดียว ในอีกด้านหนึ่งก็ได้มีการรับรองสถานะของการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลเพศหลากหลายในทางกฎหมาย แม้ว่าในหลายแห่งอาจไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกันกับการสมรสของบุคคลต่างเพศก็ตาม แต่ก็ได้มีการขยายและยอมรับให้การสมรสของบุคคลเพศหลากหลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการลดทอนปัญหาและความยุ่งยากจำนวนมากของบุคคลเพศหลากหลายให้น้อยลง
          สำหรับในระบบกฎหมายไทย แม้จะไม่ได้กำหนดให้เพศวิถีของบุคคลเพศหลากหลายเป็นความผิดทางกฎหมาย แต่ระบบกฎหมายของไทยยังคงจำแนกเพศของบุคคลให้เป็น 2 เพศตามเพศกำเนิดอย่างเคร่งครัด โดยไม่เปิดช่องให้มีการเปลี่ยนเพศเกิดขึ้นแต่อย่างใด และในส่วนของการสมรสก็ยังคงรับรองสถานะทางกฎหมายเฉพาะการสมรสระหว่างคู่รักต่างเพศ โดยการสมรสจะนำมาซึ่งสิทธิของคู่สมรสตามกฎหมายในหลากหลายลักษณะ ทั้งในแง่ทรัพย์สิน การดูแล การทำนิติกรรม ความเป็นครอบครัว เป็นต้น แต่โดยที่บุคคลเพศหลากหลายที่ไม่ได้มีคู่รักต่างเพศจะไม่สามารถทำการสมรสตามกฎหมายได้ ข้อจำกัดของระบบกฎหมายไทยส่งผลให้บุคคลเพศหลากหลายต้องเผชิญกับความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ได้รับการยอมรับความเป็นบุคคลเพศหลากหลายและการใช้ชีวิตคู่เป็นอย่างมาก
          โดยแนวทางในการรับรองสิทธิของบุคคลเพศหลากหลาย ด้านเนื้อหาคือ การยอมรับการเปลี่ยนเพศในทางกฎหมายนั้น จะสามารถยอมรับเงื่อนไขในระดับใด มีข้อจำกัดมากน้อยเพียงใด และการยอมรับการสมรสหรือระบบครอบครัวของบุคคลเพศหลากหลายจะยอมรับการสมรสในระดับใด การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน หรือในลักษณะของการสมรส ด้านรูปแบบ แบบแรก แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครอบครัวในปัจจุบัน จากการสมรสของคู่รักต่างเพศเป็นระหว่างบุคคล ทำให้บุคคลเพศหลากหลายเข้าถึงสิทธิแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ แบบที่สอง ร่างเป็นกฎหมายใหม่ เป็นทางเลือกให้กับบุคคลทุกกลุ่มสามารถใช้กับกฎหมายนี้ได้ และปรับแก้ปัญหาบางอย่างในกฎหมายครอบครัว เพื่อให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีสิทธิที่พวกเขาพึงมี
          แนวโน้มในอนาคตของการปรับแก้กฎหมายสำหรับบุคคลเพศหลากหลายจะเป็นไปในทิศทางไหน เวทีเสนอผลการวิจัยครั้งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะสื่อสารออกไปสู่สังคมสาธารณะในวงกว้าง และได้รับการยอมรับมากขึ้นในวงสังคม.
 


pageview  1205838    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved