HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 10/02/2555 ]
คู่มือวัดผลตอบแทนทางธุรกิจ ดัชนีการันตี..องค์กรสร้างสุขใช่แค่สร้างภาพ
          ล่าสุดศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องแนวโน้มความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness, GDH) ของคนไทยภายในประเทศประจำเดือนมกราคม 2555 ทำให้เราพบว่าคนในสังคมไทยมีความสุขลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา กล่าวคือจากคะแนนเต็ม 10 ตอนต้นเดือนอยู่ที่ 7.55 คะแนน ปลายเดือนอยู่ที่ 6.80 คะแนน และล่าสุดความสุขมวลรวมประจำเดือนมกราคม 2555 ของคนไทยภายในประเทศลดลงมาอยู่ที่ 6.66 คะแนน
          สะท้อนบอกอะไร?!? คงต้องขึ้นกับอิสรภาพแห่งความคิดของแต่ละคน
          แม้...เอแบคโพลล์จะระบุว่า ปัจจัยด้านลบที่ฉุดทำให้ความสุขของประชาชนลดลงมีอยู่สองปัจจัยสำคัญได้แก่สถานการณ์เมืองโดยรวมของประเทศ เช่น ความขัดแย้งเรื่องการแก้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปรับคณะรัฐมนตรี และความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองในหมู่ประชาชน เป็นต้น ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศด้านสถานการณ์การเมืองอยู่ที่เพียง 4.27 คะแนน และปัจจัยลบประการที่สองได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน เช่น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นแต่รายได้เท่าเดิม รายได้ลดลง ค่าครองชีพสูง หนี้สินเพิ่ม และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นต้น ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศด้านเศรษฐกิจระดับครัวเรือนอยู่ที่ 4.39 คะแนนเท่านั้น
          แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ "แฮปปี้ โมเดล" วันนี้ก็คือ ผลงานวิจัยเป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่จะใช้เป็นมาตรวัดความสุขของผู้คนในสังคมโดยออกมาเป็นรูปธรรม หรือผ่านตัวเลขทางวิทยาศาสตร์ได้
          ฉะนั้น การที่แต่ละองค์กร "ลงทุน" ไปกับการสร้างความสุขในองค์กร ด้วยแนวคิดที่ว่า คนหรือบุคคลากรมีความสุขกับงาน ผลผลิตก็จะออกมามีประสิทธิภาพอย่างน่าพึงพอใจด้วย...ก็นับเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องใคร่รู้ใคร่อยากได้คำตอบว่า
          แนวทาง Happy Workplace ให้ผลตอบแทนทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือเป็นได้แค่ไฟไหม้ฟาง ที่ช่วยให้คนในองค์กรผ่อนคลายจากการทำงานในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ผ่านกิจกรรมสร้างสุขต่างๆ เท่านั้น
          คำถามที่ต้องการคำตอบแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ในโลกธุรกิจที่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวเลขกำไร-ขาดทุน เป็นดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพและความสามารถของผู้บริหารองค์กรหรือเจ้าของกิจการ และดูเหมือนว่า แผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มุ่งมั่นทำ "โครงการองค์กรแห่งความสุข" หรือ แฮปปี้ เวิร์ก เพลส (Happy Work Place) มานานหลายปีตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว เพราะความสุขควรจะต้องจับต้องได้ มิใช่แค่ราคาคุย หรือเป็นแค่โครงการสร้างภาพให้องค์กรต่างๆ ดูดีมีคุณธรรมเพียงแค่เปลือก
          วันนี้ หากองค์กรใดจะต้องการพัฒนาตัวเองเข้าไปสู่โหมดของแฮปปี้ เวิร์กเพลส โดยคำนวณหรือพยากรณ์ล่วงหน้าว่า จะได้รับประโยชน์อะไรนอกเหนือจากความสนุกสนาน สามัคคี สร้างมนุษย์สัมพันธ์ภายในองค์กรระหว่างพนักงาน หัวหน้างาน ตลอดจนเจ้าของกิจการเท่านั้น ก็ สามารถเดินเข้าไปปรึกษากับโครงการแฮปปี้เวิร์กเพลสได้แล้ว เพราะที่นี่มีเครื่องมือวัดผลตอบแทนทางธุรกิจผ่านองค์กรแห่งความสุขอย่างเป็นรูปธรรม หรือมีตัวเลขชี้วัดนั่นเอง
          ดร.จิราพร ระโหฐาน รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการสร้างเครื่องมือวัดผลตอบแทนทางธุรกิจ ได้อธิบายว่า เครื่องมือวัดผลนี้เรียก กันตามภาษา สากลว่า HAPPY WORKPLACE ROI 3.0 โดย เป็นโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์สำหรับใช้วัดความคุ้มค่าจาก HAPPY WORKPLACE ใช้ในการประเมินผลมิติด้านการเงินจาก HAPPY WORKPLACE ใช้พยากรณ์ให้เห็นผลลัพธ์จาก HAPPY WORKPLACE
          "เมื่อองค์กรต่างๆ ดำเนินการเรื่อง happy workplace แล้วก็อยากเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสามารถแสดง ออกมาเป็นข้อมูล ด้านตัวเลข ได้ว่า wealth from happy workplace อย่างไร และ เกิด saving อะไรบ้างจากการทำ happy workplace นอกจากความพึงพอใจ และมีความสุขแล้ว สิ่งเหล่านี้กลับมาสู่องค์กรอย่างไรบ้าง" อาจารย์จิราพรอธิบาย พร้อมกับกล่าวถึงที่มาและฐานคิดของการสร้างเครื่องมือ ว่าจะมีการคำนวณผลตอบแทนทางการเงิน จากการลงทุน (Return on Investment : ROI) เป็นวิธีแบบตรงไปตรงมาที่ใช้กันโดยทั่วไปในกิจการทั้งหลาย ROI คือ จำนวนเท่าที่ผลตอบแทนกลับคืนสู่ผู้ลงทุนหรือเป็นการมองว่าผลตอบแทนที่ได้มีมากกว่าค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่ ได้ลงไปทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือไม่ เกิดความคุ้มค่าเพียงใด อาทิ กิจกรรมการกำจัดของเสีย ความคุ้มทุนมีมากน้อยเพียงใด และหากไม่คุ้มทุนจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการได้หรือไม่และอย่างไร เป็นต้น
          การมองมนุษย์ให้เป็นทุน หรือทุนมนุษย์ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะการันตีได้ว่าองค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะ มีการศึกษาเพิ่มขึ้นนั้นสามารถวัดผลตอบแทนทางธุรกิจได้ ไม่แตกต่างจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานเพื่อปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ให้รวดเร็วและมีคุณภาพมากขึ้น ก็เป็นการพัฒนาความสุของค์กรอย่างยั่งยืนเช่นกัน
          "เครื่องมือที่เรียกว่า HAPPY WORKPLACE ROI 3.0 นี้ไม่เพียงแต่จะพยากรณ์ไปข้างหน้าว่า โครงการสร้างสุขภายในองค์กรนั้นควรจะเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง เพื่อบรรลุเป้าหมาย ยังสามารถย้อนหลังกลับไปทบทวนด้วยว่า กิจกรรมสร้างสุขทั้งหลายที่ผ่านมาของแต่ละองค์กรนั้นเหมาะสม คุ้มทุน และให้ประโยชน์ตามเจ้าของกิจการต้องการหรือเปล่า" นี่เป็นสิ่งยืนยันจากหัวหน้าโครงการสร้างเครื่องมือวัดผลประกอบการทางธุรกิจจากองค์กรสร้างสุข
          และเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง ที่อาจารย์จิราพร อาสาว่าหากองค์กรใดสนใจคู่มือดังกล่าวก็สามารถติดต่อ ประสานงานได้ที่ jiraporn@hotmail.com
          ไม่ว่าท่านจะเป็นองค์กรที่มีคนงานแค่ 10-20 คน มูลค่าธุรกิจแค่หลักล้านต้นๆ หรือเป็นพันๆ ล้าน ROI จะให้คำตอบหรือชี้ทางกับทุกองค์กรได้ และสามารถการันตีว่า กิจกรรมหรือโครงการสร้างสุขนั้นไม่ใช่แค่ไฟไหม้ฟาง ไม่นิยมหยุดแค่การสร้างภาพ แต่เป็นการตรวจทานความคุ้มทุน คุ้มค่า ที่สามารถยืนยันได้ว่า องค์กรไหนเลือกอัพโหลดตัวเองเข้าสู่ โหมดแฮปปี้ เวิร์กเพลส ก็แปลว่า คุณกำลังเดินไปถูกทางแล้ว 

pageview  1205015    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved