HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 23/02/2555 ]
ไฟเขียวใช้ยายุติท้องไม่พร้อมได้ผลดีกว่ากินยาคุมฉุกเฉิน-ทำแท้ง/เริ่ม4รพ.ใหญ่
          แจ้งวัฒนะ * สธ.เตรียมอนุญาตให้ใช้ "ยายุติการตั้งครรภ์ไม่พร้อม" หวังแก้ปัญหาสังคม พุ่งเป้ากลุ่มวัยรุ่น นำร่องก่อน 4 รพ.ใหญ่ จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช และ รพ.แม่และเด็ก จ.ขอนแก่น ระบุให้ประสิทธิภาพดีกว่ายาคุมฉุกเฉิน และไม่เสี่ยงชีวิตเหมือนการขูดมดลูก หากได้ผลจะกระจายสู่สถานพยาบาลทั่วประเทศในปี 2556 ลั่นไม่ใช่การเปิดทางทำแท้งเสรี เพราะยังอยู่ภายใต้กฎหมาย
          ภายในงานประชุมเชิงนโยบายเรื่อง "การพัฒนาระบบบริการปรึกษาทางเลือก เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในภาวะวิกฤติท้องไม่พร้อม" เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ รร.ทีเคพาเลซ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การแพธ และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพของผู้หญิง (สคส.) สนับสนุนโดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั้น
          นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย สธ. ระบุว่า การขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการขึ้นทะเบียนในเร็วๆ นี้ เนื่องจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็น โดยขณะนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยระบบการให้ประชาชนเข้าถึงยาตัวดังกล่าว ซึ่งมี รพ.เข้าร่วมโครงการนำร่องใช้ยาไมโซพรอสตอลและมิฟิพลิสโตน ซึ่งเป็นยายุติการตั้งครรภ์ภายในปีนี้ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.รามาธิบดี ศิริราชพยาบาล และ รพ.ส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 6 จ.ขอนแก่น (รพ.แม่และเด็ก)
          "อยากให้มองว่าการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่ใช่วิธีการเปิดให้มีการทำแท้งเสรี แต่หากเป็นข้อเสนอทางเลือกขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำวิธีการที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยข้อกำหนดการใช้ต้องเป็นไปตามกฎหมายยุติการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมในแบบหัตถการ หรือการขูดและดูดมดลูกเหมือนเดิม เพียงแต่การใช้ยาจะทำให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงกว่า" ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์กล่าว
          นพ.กิตติพงศ์กล่าวต่อว่า จากการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพของตัวยาพบว่า หากตั้งครรภ์ในระยะไม่เกิน 9 สัปดาห์ การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ที่ยังไม่มีความพร้อมจะได้ผลสูงสุดคือ 95-97% หากเปรียบเทียบกับการกินยาคุมฉุกเฉินแล้วจะให้ผลที่ดีกว่าในแง่เวลาและประสิทธิภาพ เพราะยาคุมฉุกเฉินจะใช้ได้แค่ใน 3-5 วัน หลังจากมีเพศสัมพันธ์ และมีประสิทธิภาพเพียง 60-75% ตามระยะเวลาที่กินว่าเร็วหรือช้า ขณะที่การยุติการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมในลักษณะหัตถการจะทำให้ผู้หญิงตกเลือด เสี่ยงมดลูกทะลุ ซึ่งมีสถิติพบว่ากลุ่มผู้หญิงเสียชีวิตเพราะทำแท้งเนื่องจากท้องไม่พร้อมกว่า 300 รายต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่มีผู้หญิงที่เสียชีวิตเพราะการคลอดปกติมีเพียง 20 รายต่อประชากร 1 แสนคน อย่างไรก็ตาม หากการนำร่องใช้ยายุติการตั้งครรภ์ไม่พร้อมใน 4 รพ.ประสบผลสำเร็จ พร้อมๆ กับการศึกษาวิจัยในการใช้ยาดังกล่าวอย่างเหมาะสม ก็จะกระจายยาสู่สถานพยาบาลทั่วประเทศในปี 2556
          "นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2553-2557 ในหัวข้อที่ 3 ก็ได้ให้ความสำคัญกับวัยรุ่น ให้โรงพยาบาลทุกระดับจัดบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับวัยรุ่นอย่างมีคุณภาพ โดยจะมีการจัดตั้งคลินิกเป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นในเร็วๆ นี้เช่นกัน เพื่อให้บริการคำแนะนำ ปรึกษา พร้อมวิธีการแก้ไขเกี่ยวกับการอนามัยการเจริญพันธุ์ เช่น วิธีการคุมกำเนิด โดยไม่ได้มองว่าวัยรุ่นคือตัวปัญหาอีกต่อไป" นพ.กิตติพงศ์กล่าว.

pageview  1204953    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved