HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 04/02/2555 ]
ความสูงลูกเพิ่มได้จริงหรือ?
          เรียบเรียงจากนิตยสาร aigle ของรพ.สมิติเวช สุขุมวิท
          ฉบับเดือนมกราคม 2555
          ความสูงเพิ่มขึ้นได้จริงหรือ เราจะสูงกว่าพ่อแม่หรือไม่ กลัวตัวเตี้ยทำไงดี คำถามอมตะเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในเกือบทุกครอบครัว แล้วพ่อแม่ก็หาทุกวิถีทางที่จะให้ลูกตัวสูง ถูกมั่งผิดมั่งก็ว่ากันไป แล้วจะไปลองผิดลองถูกทำไม มาเรียนรู้เรื่องความสูงกันดีกว่า
          คุณหมอชลันธร ปรียาสมบัติ กุมารแพทย์ สถาบันกุมารเวช โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่อมไร้ท่อในเด็ก กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ศักยภาพในการเจริญเติบโตของเด็ก ไม่ว่าจะสูงได้เท่าไหร่ หรือจะแตกเนื้อหนุ่มสาวเมื่อไหร่นั้น พอจะประเมินได้จาก "อายุกระดูก" (Bone Age) โดยการเอกซเรย์มือซ้าย และนำผลไปเทียบเคียงกับรูปมาตรฐาน เพื่อวิเคราะห์อายุกระดูกอยู่ในเกณฑ์ที่
          เหมาะสมตามวัยหรือไม่
          "ความจริงลูกๆ จะสูงเท่าไหร่ พอจะประเมินได้จากตัวพ่อแม่ ส่วนใหญ่บวก-ลบไม่เกิน 8 เซนติเมตรจากค่าเฉลี่ยความสูงของพ่อแม่ แต่มีช่วงนาทีทองที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ หากต้องการช่วยเสริมให้ลูกสูงได้สมใจ
          เด็กผู้หญิงอายุ 9-13 ปี ถือว่าเป็นช่วงเริ่มเป็นสาวแล้ว ในช่วงอายุ 10-11 ปีนี้ พอเด็กผู้หญิงเริ่มมีหน้าอกจะเป็น
          ช่วงนาทีทอง โดยจะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายใน 2 ปี
          ประมาณ 7-9 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะมี
          ประจำเดือน หลังจากนี้ความสูงจะเริ่มค่อยๆ สูงช้าลง และหยุดสูงภายใน 3 ปีหลังจากมีประจำเดือน
          สำหรับลูกชายจะเริ่มเป็นหนุ่มช้ากว่าลูกสาว แต่จะมีเวลาช่วงตัวสูงได้นานกว่าเด็กผู้หญิง โดยช่วง
          ที่เป็นหนุ่มอาจเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 9-14 ปี เฉลี่ยที่อายุ
          12-13 ปี และลูกอัณฑะจะใหญ่ขึ้น หน้ามัน เป็น
          สิว เสียงแตก เฉลี่ยเด็กผู้ชายจะสูงขึ้นประมาณ
          8-9 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งเด็กผู้ชายวัยนี้ถ้าอายุ 14 ปีแล้วยังไม่มีสัญญาณแตกวัยหนุ่มก็ควรปรึกษาแพทย์
          คุณหมอชลันธรบอกว่า ช่วงนาทีทองที่พูดถึงนี้ เป็นช่วงที่ความรู้ทางการแพทย์สามารถทำให้ลูกชายลูกสาวสูงยาวเข่าดีได้
          ปัญหาเด็กบางคนที่ตัวเล็กเกินไปไม่สูง พื้นฐานคงต้องตรวจดูว่าเด็กคนนั้นอ้วนเกินไปหรือไม่ และดูกรรมพันธุ์ และตรวจสอบว่าขาดฮอร์โมนบางอย่างหรือไม่ และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ การที่ดูว่าทำไมลูกเราตัวเล็กกว่าคนอื่น คงต้องมาดูว่ามีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังหรือไม่ หรือใช้ยาบางอย่างรักษาที่มีผลต่อการเติบโต เด็กกลุ่มนี้อาจจะเป็นพวกม้าตีนปลาย มาสูงตอนท้ายๆ ในช่วงที่เด็กคนอื่นหยุดสูงแล้ว ซึ่งพวกม้าตีนปลายนี้อายุกระดูกจะน้อยกว่าอายุจริง
          ในเด็กที่ตัวเล็กเกินไปอาจใช้การเสริมฮอร์โมนในระดับที่เหมาะสม โดยคุณหมอชลันธรบอกว่า ถ้าให้ฮอร์โมนเสริม (Growth Hormone Therapy) ในช่วงที่อายุกระดูกแก่เกินไปก็จะไร้ผล ซึ่งการดูแลให้ลูกมีความสูงที่เหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าก่อนลูกหมดวัยเจริญเติบโต
          ในช่วง 3 ปีแรก ถ้าลูกน้ำหนักน้อยเกินไป หรือน้ำหนักน้อยกว่าคนอื่น ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีปัญหาต่อการเจริญเติบโตในภายหลัง ซึ่งไม่ใช่แค่ความสูงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของระดับฮอร์โมนด้วย หรือไม่ควรให้ลูกอ้วนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกเป็นหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ การให้กินอาหารหลัก นม ไข่ ผัก ผลไม้ ไม่เน้นแป้งและน้ำตาล เพราะน้ำตาลจะเป็นตัวกด Growth Hormone และช่วงลูกวัยรุ่นควรให้ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20-30 นาที และต้องเข้มงวดเรื่องการนอน อย่าให้ลูกนอนดึก ตื่นสาย เนื่องจากฮอร์โมนเจริญเติบโตจะหลั่งหลังเข้านอน หลังจากนั้นจะหยุดในตอนเช้า การเลี้ยงลูกให้สูงจึงต้องดูแลอย่างดี

pageview  1205091    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved