HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 30/05/2555 ]
พบเนื้อไก่ในห้างปนเปื้อนเชื้อ50% มิหนำซ้ำยังดื้อยาปฏิชีวนะ/คาดตลาดสดอาจสูงกว่านี้

  รร.สยามซิตี * "ม.มหิดล" เปิดผลสำรวจเนื้อไก่แพ็กขายตามห้าง พบติดเชื้อปนเปื้อนกว่าร้อยละ 50 ซ้ำเป็นเชื้อโรคดื้อยา จี้รัฐเร่งควบคุม ด้าน "สวรส." เผยในรอบ 10 ปี พบผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาปีละ 1 แสนคน แถมพบคนติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะทุกประเภท รอแค่วันตายในหลายจังหวัด เหตุใช้ยาไม่เหมาะสม บางรายต้องใช้ยาปฏิชีวนะแพงกว่าทอง
          ในงานแถลงข่าว "เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ : ภาวะวิกฤติต่อสุขภาพคนไทย จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ด้าน นพ.ชาญวิทย์ ตรีพุทธรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยว่า จากงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาโทที่ได้เก็บตัวอย่างเนื้อไก่สดที่บรรจุขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตมาตรวจ จำนวน 200 ตัวอย่างที่ผ่านมา นำส่งโดยบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ 4 แห่ง เพื่อตรวจหาเชื้อ Escherichia coli (E.  Coli) และ  Salmonella  enterica ซึ่งเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้นอกจากเป็นเชื้อประจำถิ่นแล้ว ยังสามารถก่อโรคและนำไปสู่ภาวะการดื้อยาได้ โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานที่ต้องพบเชื้อไม่เกิน 500 ตัวต่อเนื้อไก่ 25 กรัม ซึ่งจากผลการตรวจพบตัวอย่างเนื้อไก่ที่เกินเกณฑ์มาตรฐานถึงกว่าร้อยละ 56.7 โดยมีระดับการเกินตั้งแต่ 10-1,000 เท่า โดยแยกเป็นการตรวจพบเชื้อ E. Coli ร้อยละ 53 ของไก่ตัวอย่าง และพบเชื้อ  Salmonella  enterica ร้อยละ 18.7 สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนยังมีความเสี่ยง เนื่องจากการควบคุมมาตรฐานสินค้ามีความผิดพลาด แถมยังเป็นการปนเปื้อนเชื้อที่นำไปสู่การดื้อยาได้ อีกทั้งยังอาจกระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่ในอนาคต หากต่างประเทศกำหนดเกณฑ์มาตรฐานนำเข้าที่ต้องตรวจเชื้อดื้อยาเพิ่ม
          "ที่เก็บตัวอย่างเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะที่เป็นบรรจุหีบห่อสำเร็จ เพราะคิดว่าเป็นเนื้อไก่ที่ผ่านการทำความสะอาดมาเป็นอย่างดีแล้ว มีความสะอาดมากที่สุด" นพ.ชาญวิทย์กล่าว และว่า สำหรับไก่ที่จำหน่ายในตลาดสด หากเก็บตัวอย่างมาตรวจอาจพบมากกว่านี้
          ต่อข้อซักถามว่า เชื้อดื้อยาที่ปนเปื้อน สาเหตุมาจากการใช้ยาในสัตว์หรือไม่ นพ.ชาญวิทย์กล่าวว่า คงบอกไม่ได้ เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียดในปศุสัตว์ บอกได้แต่เพียงว่า จากยีนดื้อยาที่พบนั้นอาจเกี่ยวข้องกับยาที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์เท่านั้น ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น คงต้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังในการควบคุมและแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะการตรวจมาตรฐานอาหารที่ใช้ในชุมชน และการใช้ยาต้านจุลชีพในการเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ควรมีสารตกค้างเช่นเดียวกับสารเคมี แต่ในกรณีนี้เป็นการตกค้างของเชื้อที่ก่อโรคได้ ทั้งยังอาจส่งผลต่อการรักษาในอนาคต
          ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกล ประธานคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีเชื้อโรคดื้อยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีเชื้อหลายชนิดที่ดื้อยาปฏิชีวนะทุกขนานแล้ว สาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ใช้มากเกินไป ใช้ไม่เหมาะกับโรค ซึ่งแต่ละปีคนไทยใช้ยาปฏิชีวนะ 10,000 ล้านบาท และแต่ละปียังมีคนไทยติดเชื้อดื้อยา 100,000 คน ทำให้ต้องรักษาตัวใน รพ.นานขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน เสียชีวิตอย่างน้อยประมาณ 30,000 คนต่อปี และส่งผลเสียทางด้านเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท ฉะนั้นหากไม่แก้ไขอย่างเร่งด่วนจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง
          ศ.นพ.วิษณุกล่าวว่า เชื้อดื้อยาที่พบบ่อยจะอยู่ใน 4 กลุ่ม คือ 1.สเตปออเรียส (Staphaureus) เป็นเชื้อดื้อยาที่พบได้บ่อยใน รพ. 2.เชื้ออีโคไล (E.coli) เป็นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งพัฒนามาเป็นเชื้อดื้อยา 3.คาร์บาฟิแนม (Carbapenems) เป็นยากลุ่มสุดท้ายของการรักษาเชื้อดื้อยาจากร้อยละ 1-2 เป็นร้อยละ 63-64 และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีคนดื้อยาดังกล่าวในหลายจังหวัดของประเทศ บางรายเสียชีวิตแล้ว และ 4.อะซินีโต แบ็กเตอร์ บอมมานิโอ หรือเอบอม (Acinetobacter  baumannii) เป็นยาตัวเดิมที่นำกลับมาใช้ใหม่ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในปอด ที่ไม่มียารักษาแล้ว ซึ่งยากลุ่มนี้มีพิษต่อไตและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตถึงร้อยละ 80 โดยคนที่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อโรคดื้อยาส่วนใหญ่คือผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ การสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ ผู้ที่มีสายในร่างกาย อาทิ เครื่องช่วยหายใจสายสวนหลอดเลือดดำ ส่วนในกลุ่มคนทั่วไปถ้าไม่เคยกินยาปฏิชีวนะมาก่อน หากเกิดการติดเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรงและรักษาได้ง่าย แต่หากเคยกินยาปฏิชีวนะมาแล้ว เมื่อได้รับเชื้อโรคส่วนมากจะเกิดการดื้อยา รักษาได้ยาก ต้องให้ยาที่แรงขึ้น แพงขึ้น และเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น
          "ที่สำคัญคือเราพบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เป็นอาหารคน เช่น ไก่ ดังนั้นจึงอยากให้จำกัดการใช้สารหรือยาปฏิชีวนะในสัตว์ด้วย" ศ.นพ.วิษณุกล่าว
          ด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ประชาชนเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบนั้น ที่จริงแล้วก็คือยาปฏิชีวนะ เมื่อเป็นหวัด ร้อยละ 80 มักขอยาปฏิชีวนะที่เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทั้งที่ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นการใช้ยาไม่เหมาะสม และเมื่อกินยานี้บ่อยๆทำให้ยาใช้ไม่ได้ผล
          "หากเราปล่อยให้ปัญหาการดื้อยาเกิดขึ้นแบบนี้ เกรงว่าในอนาคตอาจมีคนติดเชื้อที่ไม่มียารักษาได้เลย ขณะนี้เริ่มมีตัวอย่างผู้ป่วยบางรายที่เกิดปัญหานี้แล้ว" ผู้อำนวยการ สวรส.กล่าว
          นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยและพัฒนาระบบยา สวรส. กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการจากนี้ คือ 1.สถาน พยาบาลทุกแห่งต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันการ ติดเชื้อใน รพ.อย่างเคร่งครัด 2.สถานพยาบาลเข้มงวด ในการตรวจสอบและอนุมัติการใช้ยาปฏิชีวนะ 3.บุคลากรสาธารณสุขต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล 4.การ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและความตระหนักเรื่องยาปฏิชีวนะกับประชาชน 5.จำกัดการจ่ายยาปฏิชีวนะที่ร้านยา และ 6.งดใช้ยาปฏิชีวนะแก่สัตว์เพื่อเร่งการเติบโต
          "ทั้งนี้ ยาปฏิชีวนะขณะนี้ราคาแพงกว่าทอง เพราะทองราคาแค่ 20,000 บาท แต่ยาปฏิชีวนะบางชนิดเพียง 15 กรัม ราคา 30,000 บาท ซึ่งต่อไปเชื่อว่าจะมียาปฏิชีวนะที่ราคาแพงกว่าทองมากขึ้น และในอนาคตอาจมียาที่ราคาแพงกว่าเพชรด้วยจากปัญหาการดื้อยา" นพ.สุรวิทย์กล่าว.


pageview  1205007    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved