HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 29/05/2555 ]
ปรับพฤติกรรมเสี่ยง...ช่วยชะลอวัยชรา

เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความเสื่อมในร่างกายก็ย่อมต้องมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งปัญหาที่เราเห็นได้ชัดเจนนั้น ได้แก่ สายตาพร่ามัว ระบบขับถ่ายในร่างกายลดน้อย สมองทำงานช้าลง รวมไปถึงโรคแฝงที่มักพบได้ในผู้สูงอายุ เช่น โรคสมองเสื่อมและโรคกระดูกพรุน ดังนั้นการดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การงดดื่มสุราการออกกำลังกาย หรือแม้แต่การพักผ่อนให้เพียงพอ ฯลฯ นอกจากจะช่วยชะลอวัยแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคที่อาจส่งผลเสียสำหรับผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 อัพ เนื่องจากช่วงวัยดังกล่าวนั้นเป็นช่วงที่โรคภัยต่างๆมักถามหา และเป็นวัยที่ร่างกายเริ่มเกิดความเสื่อมลงนั่นเอง
          พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ รพ.บำรุงราษฎร์ เปิดเผยภายใต้งาน "Healthy 50+' อายุไม่ใช่อุปสรรคของความสุข หากคุณมีสุขภาพที่ดี" ว่า ตนได้แบ่งโรคออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่ "โรคที่เป็นแล้วแก่" เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง ส่วนกลุ่มที่ 2 นั้นคือ "โรคแก่แล้วเป็น" เช่น โรคสมองเสื่อมโรคกระดูกพรุน โรคข้อเสื่อมดังนั้นการดูแลสุขภาพต้องเริ่มตั้งแต่การงดปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่และการดื่มสุราจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดน้อยลง ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือปัญหาโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ ส่วนการดูแลสุขภาพลำดับต่อมาคือ การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกาย คุณหมอแนะนำว่า การออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุนั้น ควรเป็นลักษณะของการเน้นความแข็งแรงให้กับกระดูก เช่น ฝึกชี่กง หรือรำไท้เก๊ก การเดิน หรือการวิ่งเหยาะๆ เป็นต้น
          ส่วนการรับประทานอาหารนั้น พญ.ลิลลี่ให้ข้อมูลว่า การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมก็สำคัญ โดยเฉพาะนมให้ได้วันละประมาณ 1,000-1,200 มิลลิลิตร หรือวันละ 2 แก้ว (นม 1 แก้วจะมีปริมาณแคลเซียม 300 มิลลิกรัม) ขณะเดียวกันผู้สูงอายุควรรับประทานผักใบเขียว และแคลเซียมที่ได้จากปลากรอบ รวมถึงรับประทานเต้าหู้แข็งให้ได้ทุกมื้อของอาหาร ก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุได้ เพราะบางครั้งการดื่มนมอย่างเดียวอาจได้แคลเซียมที่ไม่เพียงพอต่อร่างกาย นอกจากนี้ก็ควรรับประทานเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เพราะเนื้อสัตว์นั้นจะให้โปรตีน หากขาดโปรตีนจะส่งผลให้กล้ามเนื้อแขนขาของผู้สูงอายุลีบลง
          การพักผ่อนก็สำคัญ ผู้สูงอายุควรพักผ่อนให้ได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง แต่หากผู้สูงอายุท่านใดที่ใช้เวลาพักผ่อนเพียง 5 ชั่วโมง แล้วไม่รู้สึกอ่อนเพลียหรือง่วงนอนก็ถือว่าเพียงพอแล้ว คุณหมอกล่าวต่อว่า เพราะการนอนหลับที่เพียงพอจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตใจที่ดี และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ดี ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันผู้สูงอายุเก็บตัวอยู่คนเดียว จนอาจเกิดอาการซึมเศร้าตามมาได้ พูดง่ายๆ ว่าการพักผ่อนที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันโรคที่มีสาเหตุมาจากสมอง เช่น โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมองได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้สูงอายุจะไม่เครียดและไม่กังวลใจ เพราะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
          อย่างไรก็ตามคุณหมอแนะนำว่า หากเป็นไปได้ควรให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ เช่น การทำงานฝีมือเล็กๆ น้อยๆ การอ่านหนังสือ หรือการไปเข้าวัดนั่งสมาธิ เนื่องจากมีงานวิจัยแล้วว่าการให้ผู้สูงอายุเข้าหาธรรมะนั้น นอกจากจะช่วยทำให้อายุยืนแล้ว ยังป้องกันโรคสมองเสื่อมและช่วยชะลอวัยได้อีกด้วย และไม่เพียงแค่การดูแลสุขภาพโดยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตข้างต้นแล้ว การรู้จักสังเกตความผิดปกติในร่างกาย และการหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ก็สามารถช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคและช่วยให้ผู้สูงวัยมีอายุยืนยาวได้ทางหนึ่ง.
 


pageview  1205135    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved