HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 04/02/2555 ]
เปลี่ยนที่ว่างเป็นแดนสร้างสรรค์รุกสร้างเด็กเติบโตแบบมีคุณภาพ
          หากพูดถึงพื้นที่สร้างสรรค์ในประเทศไทย อาจจะมีน้อยเกินไปต่อความต้องการของเด็กและเยาวชนไทย ผลที่ตามมาทำให้เขาเหล่านั้นอาจขาดพื้นที่แสดงออกในการสร้างโอกาสในการพัฒนารอบด้านตามวัย และตอบสนองความต้องการของวัยที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์
          ด้วยเหตุนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญ และได้เป็นประธานในพิธีเปิด "ศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์" ที่บริเวณใต้ทางด่วนถนนสุขุมวิท (เพลินจิต)
          โดยความร่วมมือของโตโผสำคัญอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานภาครัฐเอกชนและภาคีเครือข่ายกว่า 10 องค์กรจัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นใต้ทางด่วนและพื้นที่ต่างๆ โดยมีความต้องการให้พื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ต่างๆ เป็นสถานที่เสริมสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนในชุมชน อาทิ เกิดกิจกรรมเรียนรู้ ศิลปะ เทคโนโลยีไอทีสำหรับเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัว แหล่งให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ จัดฝึกทักษะอาชีพสร้างรายได้ จัดกิจกรรมออกกำลังกายของชุมชน
          น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เด็กและเยาวชนควรได้เติบโตและเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมสร้างสรรค์ ผู้หญิงมีโอกาสใช้ศักยภาพและบทบาทอย่างเต็มที่ ทุกคนในฐานะสมาชิกของครอบครัวมีสุขภาวะที่ดี ไทยจะเติบโตมั่นคงไม่แพ้ชาติอื่น รัฐบาลจึงต้องการสนับสนุนให้เกิดศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์กระจายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่สาธารณะในชุมชน ซึ่งตนยินดีที่ได้มาเป็นประธานคณะกรรมการกองทุน สสส. ทำให้ได้ร่วมขยายกิจกรรมสร้างสรรค์ให้ประชาชนในพื้นที่
          โดยอยู่บนหลักการว่า ชุมชนต้องเป็นผู้กำหนดและมีส่วนร่วม จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์แห่งแรกที่บริเวณใต้ทางด่วนเพลินจิต และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
          นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เด็กไทยมีรูปแบบการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป มีสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง ขาดทางเลือกในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง
          ผลสำรวจสุขภาพปี 2551-2552 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน เป็นเด็ก 1.6 ล้านคน ผู้ใหญ่ 17.6 ล้านคน และอ้วนลงพุง 16.2 ล้านคน นอกจากนั้นพบคนไทยสูบบุหรี่ 12 ล้านคน ดื่มแอลกอฮอล์ 23 ล้านคน ด้านสติปัญญาพบว่า คนไทย 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 1 ใน 5 มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป
          ดังนั้นศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์ต้องการให้เกิดการระดมความคิดและการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคประชาชน ในการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางในการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัว เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลอบายมุขและยาเสพติด รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
          นายวิทยากล่าวว่า อยากเห็นชุมชนเชิงสร้างสรรค์ มีสถานที่ให้ใช้ประโยชน์ ทั้งสถานที่ราชการ สถานที่สาธารณะ สถานที่ของการรถไฟฯ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นดำริของนายกฯ ในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดกิจกรรมร่วมกัน เช่น กีฬา กิจกรรมสร้างอาชีพ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีชุมชนด้อยโอกาสเยอะมาก สธ.ดูแลสุขภาพ สุขภาพจิตต่างๆ ต้องบูรณาการร่วมกัน เดิมเป็นที่ทิ้งขยะ ที่รกร้าง แต่ขณะนี้มีแต่สิ่งดีๆ เพื่อมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
          ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า งานวิจัยขององค์การอนามัยโลกพบว่า หากเด็กมีพื้นที่สร้างสรรค์จะทำให้เกิดพฤติกรรมบวก ลดพฤติกรรมรุนแรง และพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้ หากเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ตามนโยบายนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมกองทุน สสส. และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกองทุน สสส. จะแก้ปัญหาแบบบูรณาการดังที่กล่าวมาได้ทั้งหมด
          "การพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่สุขภาวะสามารถสร้างความพอใจและส่งผลกระทบวงกว้างทั้งในมิติสุขภาพ สังคมเศรษฐกิจและการเมืองสร้างสรรค์ มีต้นแบบจากต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ โครงการพื้นที่สีเขียวลอยฟ้าบนทางรถไฟยกระดับเก่า (the Highway) เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา"
          "โครงการปรับปรุงคลองชองเกชอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่ให้มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ถึง 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ และช่วยลดฝุ่นละอองและมลพิษในอากาศลงได้ถึงร้อยละ 35 ซึ่งผมเชื่อว่าเมื่อความร่วมมือขยายวงกว้างขึ้น พื้นที่สร้างสุขภาวะสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ไม่ยาก" ทพ.กฤษดากล่าว
          โดยในปีนี้ สสส.ตั้งเป้าขยายศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นใน กทม. 3 แห่ง และทั่วประเทศ 200 แห่ง ซึ่งระยะแรกเราจะเป็นพี่เลี้ยงและให้ผู้แทนชุมชนเป็นคณะกรรมการร่วมดูแล เมื่อชุมชนเข้มแข็งก็สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง
          สำหรับข้อมูลพบว่าใต้ทางด่วน กทม.ยังมีพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ถึงร้อยละ 45 พื้นที่สวนสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ 390 แห่งทั่วประเทศ พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน วัด โรงเรียน สถานประกอบการ รวมไปถึงเส้นทางสัญจรสาธารณะ เช่น คลอง ทางเท้า ถนน เป็นต้น
          ด้านนายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า หากจะทำให้พื้นที่สร้างสรรค์ประสบความสำเร็จต้องเลือกชุมชนที่มีใจก่อนเป็นอันดับแรก โดยภาครัฐบาลจะลงทุนพัฒนาพื้นที่ให้ก่อน และปล่อยให้ชุมชน อบต. หรือเทศบาล บริหารต่อไป ก็จะไปรอดอย่างเช่นในต่างประเทศ
          ผอ.สถาบันรามจิตติกล่าวว่า รัฐบาลต้องเข้าใจ การผลักดันเรื่องนี้ต้องใช้เวลาระยะยาว จะออกดอกผลโดยรวดเร็วเป็นไปไม่ได้ และภาครัฐจะต้องกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นมอบรางวัลดีเด่นให้แก่ชุมชนดีเด่นที่ทำพื้นที่สร้างสรรค์ประสบความสำเร็จ หรือจะออกมาตรการให้แก่ชุมชนด้วยการที่รัฐบาลออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างพื้นที่สร้างสรรค์คนละครึ่งกับชุมชนที่มีความพร้อม
          "หากทำได้สำเร็จก็เป็นผลดีต่อเด็กและเยาวชนได้ห่างไกลจากความเสี่ยง โดยเฉพาะอบายมุข อาทิ บุหรี่ สุรา ยาเสพติด ได้มากขึ้น เพราะพวกเขาจะหันไปทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ อาทิ การเล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือทำงานศิลปะแทน โดยผู้ปกครองและคนในชุมชนต้องเข้ามาช่วยเพื่อไม่ให้พื้นที่แห้งเหี่ยวเฉาตายไป" นักวิชาการด้านเด็กกล่าว และว่า
          สิ่งจำเป็นคือควรมีเจ้าหน้าที่พัฒนาอาชีพให้คำแนะนำในชุมชนและรับทราบ กระแสขณะนี้รับทราบมาว่ามีชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศให้ความสนใจอยากมีพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก โดยทุกคนพร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วม ยอมรับว่าเป็นผลดีที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของและเกิดการดูแลพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่เอง
          หากภาครัฐและชุมชนร่วมกันผลักดันพื้นที่สร้างสรรค์ เริ่มต้นด้วยใจตั้งแต่แรกแล้ว การผลักดันและพัฒนาการให้เยาวชนมีศักยภาพก็ไม่ใช่เรื่องยาก

pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved