HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 26/01/2561 ]
ฝนชุกทำยุงลายขยายพันธุ์รวดเร็ว หวั่นไข้เลือดออกระบาด คร.แนะวิธีป้องกัน สุขุม ห่วงแบคทีเรียดื้อยา

 เมื่อวันที่ 24 ม.ค.  นพ.สุวรรณ ชัยวัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)กล่าวว่าจากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในสัปดาห์นี้ประเทศไทยอาจมีฝนตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้รวมถึงกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล ซึ่งฝนที่ตกลงมาทำให้เกิดน้ำขังในแอ่งน้ำ เศษภาชนะหรือภาชนะที่มีกักเก็บน้ำไว้ใช้ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาคร. รายงานว่า ตลอดปี 2560 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวม 59,130 รายเสียชีวิต 63 ราย  โดยเป็นกลุ่มเด็กวัยเรียนและกลุ่มวัยรุ่นที่ป่วยมากที่สุด จำนวนผู้ป่วยที่พบมากที่สุดในภาคกลางรองลงมา คือภาคใต้รวมสองภาคคิดเป็นร้อยละ 62 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ  ส่วนปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1-15 ม.ค. พบผู้ป่วยแล้ว 279 รายเสียชีวิต 1 ราย
          นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า คร.แนะนำประชาชนให้เตรียมความพร้อมใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด 2.การเฝ้าระวังอาการของโรค เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง และ3.พบแพทย์ทันทีเมื่อป่วยและมีไข้สูง หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ "3เก็บป้องกัน3 โรค" คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาดโปร่งโล่งไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ3.เก็บน้ำสำรวจภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่เพื่อป้องกัน 3 โรคคือโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
          ด้านนพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวถึงเชื้อแบคทีเรียดื้อยาว่า เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและประเทศอื่นๆทั่วโลก เนื่องจากพบว่า เชื้อโรคมีแนวโน้มดื้อยาต้านจุลชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรคติดเชื้อต่างๆที่เคยรักษาและควบคุมได้กลายเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เชื้อดื้อยาเป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างมาก มีรายงานการวิจัยระบุว่า แต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000คน ทั้งนี้ การใช้ยาต้านแบคทีเรียที่มากเกินความจำเป็น จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการกลายพันธุ์ได้เร็วขึ้น ดังนั้น การชะลอปัญหาเชื้อดื้อยาจึงต้องเริ่มต้นที่ห้องปฏิบัติการก่อน ซึ่งจะวินิจฉัยเชื้อได้อย่างแม่นยำ.


pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved