HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 27/12/2560 ]
เยียวยา2ด.ช.หลังพ่อยิงแม่แล้วฆ่าตัวตาย

จากกรณีนายพงษ์(นามสมมติ)อายุ 38 ปี ผู้จัดการร้านอาหารญี่ปุ่นย่านห้าแยกลาดพร้าว ใช้ปืน .38 บุกยิง น.ส.ธิดา(นามสมมติ)อายุ 32 ปี ภรรยาอาชีพแม่ค้าขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะส่งลูก 2 คนไปโรงเรียน ก่อนใช้ปืนกระบอกเดียวกันยิงตัวตาย ต่อหน้าลูกชายวัย 9 ขวบและ 6 ขวบ ที่หน้าประตูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในวัดชื่อดังริมถนนนนทบุรี 1 ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี สาเหตุตามง้อขอคืนดีไม่สำเร็จ
          ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ในระยะเร่งด่วนกรมสุขภาพจิตได้ส่งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ รพ.ศรีธัญญา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 ลงเยียวยาจิตใจเด็กทั้ง 2 คน รวมทั้งแม่ที่อยู่ระหว่างพักรักษาตัวที่ รพ.เกษมราษฎร์ ร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี มีการประสานการดูแลร่วมระหว่างครูประจำชั้นของโรงเรียนอย่างใกล้ชิด เพื่อปฐมพยาบาลบาดแผลทางใจของเด็กทั้ง 2 คน ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบาดแผลทางจิตใจหรือโรคเครียดสะเทือนขวัญ อาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง บุคลิกภาพ อารมณ์ การปรับตัว ขาดสมาธิในการเรียนของเด็ก พร้อมทั้งให้การดูแลครอบครัวทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดาของเด็กด้วย ทีมจะวางแผนดูแลในระยะยาวร่วมกับโรงเรียนอย่างเป็นระบบ วันที่ 28 ธ.ค.นี้ จะประเมินผลกระทบทางจิตใจทั้งนักเรียน ครู และกลุ่มผู้ปกครองด้วย
          พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของเด็กทั้ง 2 คน เนื่องจากอยู่ในเหตุการณ์และสูญเสียบิดา เด็กอยู่ช่วงวัยที่มีพัฒนาการเต็ม สามารถรับรู้เหตุการณ์ได้ทั้งการเสียชีวิตและความรุนแรงในครอบครัว ประเด็นที่จิตแพทย์จะเน้นหนักคือการป้องกันผลกระทบรุนแรงทางจิตใจหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญโดยตรงที่พบบ่อย 2 เรื่องคือ 1.โรคเครียดเฉียบพลันหรือโรคเอเอสดี อาการโรคนี้มีตั้งแต่ช็อกตกใจ หวาดผวา มึนงง สับสน ภาพเหตุการณ์ผุดขึ้นมาซ้ำๆ ฝันร้าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เด็กจะต้องได้รับการดูแลเยียวยาอย่างเร่งด่วนและใกล้ชิดจากทุกฝ่ายทั้งครู จิตแพทย์ และครอบครัว ทีมจิตแพทย์ จะติดตามเป็นเวลา 1 เดือน อาการจะค่อยๆดีขึ้น การดูแลในช่วงนี้จะเน้นให้เด็กได้ใช้ชีวิตตามปกติที่สุด คือไปโรงเรียน เล่นกับเพื่อนๆไม่ต้องให้หยุดเรียน
          สำหรับโรคที่ 2 คือโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือโรคพีทีเอสดี โรคนี้มีความรุนแรงเรื้อรัง มักเกิดภายหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 3-6  เดือน เด็กทั้ง 2 คน จัดว่ามีความเสี่ยงเกิดโรคนี้เพราะอยู่ในเหตุการณ์ โรคนี้มีลักษณะอาการสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้ คือ 1. นึกถึงเหตุการณ์เก่าๆ 2. ไม่ยอมไปโรงเรียน หลีกเลี่ยงการดูข่าวประเภทเดียวกัน และ 3. ฝันร้าย โรคนี้เมื่อเกิดขึ้นในวัยเรียนจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้เด็กขาดสมาธิในการเรียน มีปัญหาในการจำอาจมีบุคลิกภาพเก็บตัว อารมณ์ซึมเศร้า ขาดความสามารถในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและการปรับตัวในอนาคตได้ 2 ประเด็นที่ต้องระมัดระวังและขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายรวมทั้งเพื่อนๆนักเรียนด้วยคือไม่ควรถามความรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก เนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กคิดถึงเหตุการณ์ขึ้นมาซ้ำอีก สิ่งที่ควรทำคือชวนเล่นชวนพูดคุยในเรื่องที่ทำให้เด็กสนุกสนานและให้กำลังใจ


pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved