HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 04/07/2560 ]
วชช.ตาก ปั้นหลักสูตร"สาธารณสุขชุมชน" ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เติมเต็มสุขภาพ "คนชายขอบ"

"อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรค คือลาภอันประเสริฐ"
          พุทธพจน์ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้
          และผลต่อเนื่องที่เป็นสัจธรรม คือ หากคนเรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงจะประกอบกิจการงานใดก็คงทำได้เต็มที่ ในทางกลับกัน หากสุขภาพร่างกายทรุดโทรมย่ำแย่ถูกโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้าจะทำอะไรก็คงเป็นเรื่องลำบาก
          สำหรับประเทศไทยยังมีอีกหลายพื้นที่ ซึ่งระบบการสาธารณสุขยังคงเข้าไปไม่ถึงชาวบ้าน หรือบางส่วนที่เข้าถึงแล้ว แต่ก็พบว่าการให้บริการยังคงเป็นแบบ "ลักปิดลักเปิด" เพราะมีข้อจำกัดต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน พื้นที่รอยตะเข็บตามแนวชายแดน พื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ภูเขาสูงที่การคมนาคมเป็นไปด้วยความยากลำบาก
          และนั่นจึงเป็นที่มาของการจัด หลักสูตรสาธารณสุขชุมชนของ วชช.ตาก
          ซึ่งในเวทีประชุมสัญจร คณะกรรมการสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน ประธานสภาวิทยาลัยชุมชน (วชช.) และผู้อำนวยการ วชช.ภาคเหนือ ที่ จ.ตาก นพ.พิเชฐ บัญญัต รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรรมการสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน ได้สะท้อนให้เห็นความสำคัญในการจัดหลักสูตรสาธารณสุขชุมชนของ วชช.ตาก พร้อมเล่าถึงที่มาที่ไปการจัดหลักสูตรนี้ว่า...ปัจจัยที่เป็นปัญหาสำคัญในการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยประการหนึ่ง คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่จะให้บริการด้านสุขภาพให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่แนวตะเข็บชายแดน แต่ละอำเภออยู่ห่างไกล มีภูมิประเทศที่เดินทางด้วยความยากลำบาก หลายพื้นที่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบรรจุมาปฏิบัติงาน อยู่ได้ไม่นานก็ขอย้ายออกไป เพราะเป็นคนต่างภูมิลำเนา ทำให้การบริการด้านสาธารณสุขสะดุดขาดความต่อเนื่อง...
          "...จากปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบกับ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้ปรารภกับผมซึ่งขณะนั้นผมเป็นประธานสภา วชช.ตาก ว่าใน พื้นที่ชายแดนยังขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกมาก หากมีหลักสูตรให้คนพื้นที่ได้เรียน จบแล้วไปทำงานในท้องถิ่นของตัวเองก็จะเกิดประโยชน์มาก ดังนั้น วชช.ตาก โดยหน่วยจัดโรงพยาบาลบ้านตาก ซึ่งจัดการศึกษาหลักสูตรอนุปริญญาการแพทย์แผนไทย จึงได้ร่วมกับทีมงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ช่วยกันพัฒนาหลักสูตร อนุปริญญา สาขาสาธารณสุขศาสตร์ หรือสาธารณสุขชุมชน ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับความจำเป็นของพื้นที่ จากวันนั้นถึงปัจจุบัน วชช.ตาก ได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานสาธารณสุขชุมชนไปแล้ว 4 รุ่น อนุปริญญาการแพทย์แผนไทย 7 รุ่น อนุปริญญาสาธารณสุขชุมชน 10 รุ่น โดยผู้สำเร็จการศึกษาร้อยละ 90 ได้ทำงานและช่วยเติมเต็มการบริการด้านสาธารณสุขให้กับคนในพื้นที่ "นพ.พิเชฐ กล่าวย้ำชัด
          ขณะที่ นายเบียะอ่อ นักศึกษาหลักสูตรอนุปริญญาสาธารณสุขชุมชน วชช.ตาก ชาวปกากะญอ ที่อาศัยอยู่บ้านตะวอซอ หมู่ 4 ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กล่าวว่า เคยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาประจำอยู่ในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ แต่อยู่ได้ไม่นานก็ขอย้ายกลับภูมิลำเนา ดังนั้นเวลาพี่น้องชาวปกากะญอในพื้นที่เจ็บป่วย จะต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก็ต้องใช้เวลาเกือบวัน เดือดร้อนกันมาก ตนเรียนจบ ม.6 จึงตัดสินใจมาเรียนหลักสูตรอนุปริญญาการแพทย์แผนไทย กับ วชช.ตาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถดูแลผู้ที่เจ็บป่วยได้เต็มที่ จึงตัดสินใจมาเรียนหลักสูตร อนุปริญญาสาธารณสุขชุมชน หลังเรียนจบตั้งใจจะกลับไปดูแลพี่น้องในชุมชน ถ้าไม่มี วชช.ตาก ชาวปกากะญอที่ไม่มีแม้แต่นามสกุลอย่างตนคงไม่มีโอกาสได้เรียนระดับอุดมศึกษาเป็นแน่
          ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน กล่าวว่า คณะกรรมการสภาสถาบันฯ ได้สัญจรมาติดตามตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน วชช.ตาก และ วชช.กลุ่มภาคเหนือเห็นได้ชัดว่า หลักสูตรที่ วชช.จัดการเรียนการสอนนั้น เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน และเป็นความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง แต่จากข้อมูลหลักสูตรสาธารณสุขชุมชนยังต้องได้รับการสนับสนุนอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอุปกรณ์การเรียนการสอน ทุกวันนี้ต้องขอรับการสนับสนุนจากโรงพยาบาล สาธารณสุขจังหวัด และอำเภออยู่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ รวมไปถึงค่าตอบแทนวิทยากรผู้สอน ที่มีทั้งแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ ทันตแพทย์ สาธารณสุขจังหวัด และอำเภอ เป็นต้น ทุกคนเข้ามาช่วยด้วยใจแท้จริง ทั้งที่มีภาระงานประจำที่หนักหน่วงอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเสียสละเวลาส่วนตัวมาเป็นอาจารย์พิเศษให้ ขณะที่ได้รับค่าตอบแทนเพียงชั่วโมงละ 270 บาท แต่ต้องเสียค่าน้ำมันขับรถระยะไกล 3-4 ชั่วโมง เพื่อมาสอนลูกศิษย์...
          ...แม้ท่านจะมาช่วยงาน วชช.ด้วยใจ แต่เราคงปล่อยให้คนเหล่านี้เสียสละแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นจึงจะมีการหยิบยกเรื่องนี้ไปพูดคุยในคณะกรรมการสภาสถาบันฯเพื่อปรับเพิ่มค่าตอบแทนวิทยากรผู้สอนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบัน ส่วนการช่วยเหลือระยะเร่งด่วนมอบให้ วชช.ตาก ไปดูว่าจะสามารถเจียดงบประมาณในส่วนใดเพื่อดูแลเรื่องนี้ไปก่อน ทั้งให้ทำแผนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนที่ขาดแคลนเสนอไปยังสถาบันวิทยาลัยชุมชน ซึ่งเบื้องต้นอาจจัดงบฯเหลือจ่ายปีงบฯ 2560 จัดซื้อบางส่วนให้ไปก่อน
          นายกสภาสถาบัน วชช. กล่าวด้วยว่า หลักสูตรสาธารณสุขชุมชน วชช.ตาก ถือเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นส่งเสริมดูแลสุขภาพของประชาชน และตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนเพื่อทดแทนบุคลากรที่ขาดแคลนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอัตลักษณ์ของหลักสูตรที่โดดเด่นของ วชช.ตากนี้ จะเป็นต้นแบบที่ วชช.อื่นๆจะไปกำหนดหลักสูตรที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละแห่ง และสอดคล้องนโยบายชาติไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลต่อไป
          "ทีมการศึกษา" เห็นด้วยกับนโยบายของคณะกรรมการสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชนที่พยายามผลักดันให้แต่ละ วชช.จัดการเรียนการสอนหลักสูตรที่เกิดประโยชน์ เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน โดยเฉพาะหลักสูตรสาธารณสุขชุมชน
          เพราะประเทศจะพัฒนาก้าวไกลไปขนาดไหนนั้นเรื่องของสุขภาพถือเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง
          หากคนในชาติที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมีแต่โรคภัยไข้เจ็บ ง่อยเปลี้ยเพลียแรงแล้ว การจะก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลคาดหวังก็คงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก
          ถึงเวลา วชช.ขยับขจัดจุดอ่อนจัดการเรียนการสอนเพื่อชุมชนแข็งแรงเสียที...!!!


pageview  1205134    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved