HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 24/03/2559 ]
ยุทธศาสตร์สุขภาพ สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว

อีกสิบกว่าปีเท่านั้น...“ประเทศไทย” จะก้าวเข้าสู่“สังคมผู้สูงอายุ” อย่างสมบูรณ์

ทิศทางการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2559 ระบุว่า เป็นปีที่มีการเปิดหน้างานใหม่ๆหลายเรื่อง ทั้งการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน การขยายสิทธิการคลอดไม่จำกัดจำนวนครั้ง และการเสริมวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) ร่วมกับชนิดกินให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับโลก

พุ่งเป้าไปที่ “การบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง”

หมายความว่า...การบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ที่เป็นการให้บริการ ณ ครัวเรือน หรือที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน หรือที่หน่วยบริการ หรือที่สถานบริการที่ให้บริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข

โดยบุคลากรสาธารณสุขหรือผู้ช่วยเหลือดูแล “ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ตามความต้องการการบริการด้านสาธารณสุข อันได้แก่ กลุ่มที่ 1...เคลื่อนไหวได้บ้าง และอาจมีปัญหาการกิน หรือการขับถ่าย แต่ไม่มีภาวะสับสนทางสมอง กลุ่มที่ 2...เหมือนกลุ่มที่ 1 แต่มีภาวะสับสนทางสมอง  กลุ่มที่ 3...เคลื่อนไหวเองไม่ได้ และอาจมีปัญหาการกิน หรือการขับถ่าย หรือมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง และ กลุ่มที่ 4...เหมือนกลุ่มที่ 3 มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรืออยู่ในระยะท้ายของชีวิต

ที่มาที่ไป...ความสำคัญ แน่นอนว่านับวันจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงระดับปานกลางถึงทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ หนำซ้ำ...ศักยภาพของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุก็ยังถดถอยลง...จากขนาดครอบครัวที่เล็กลง...การเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทสู่เมือง...การทำงานนอกบ้านของสตรี

ผนวกกับ “ระบบบริการสาธารณสุข” และ “บริการด้านสังคม” ที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะตั้งรับ สามารถให้บริการหลักแก่กลุ่มที่ไม่มีภาวะพึ่งพิง แต่กับกลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิง...บริการมีจำกัด และมักเป็นในรูปการ สงเคราะห์เป็นครั้งคราว ไม่ต่อเนื่อง

หลักการออกแบบระบบ...จึงเน้นบูรณาการด้านบริการสาธารณสุขและบริการด้านสังคมในระดับพื้นที่...ตำบล...หมู่บ้าน...ครอบครัว

คำนึงถึงความยั่งยืน...ความเป็นไปได้ของงบประมาณระยะยาวในอนาคต

สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)...เทศบาล อบต. เป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารระบบ ...เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ ผ่านทางระบบการบริหารของกองทุนหลักประกันสุขภาพ

น่าสนใจว่างานดูแลผู้สูงอายุในภาพใหญ่ที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในอนาคต สปสช.ทำงานร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน

ปลายปีที่แล้ว นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เป็นประธานในพิธีการลงนามความร่วมมือสนับสนุนการจัดระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แบบบูรณาการในพื้นที่ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สปสช. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

นพ.ปิยะสกล บอกว่า การเตรียมความพร้อมระบบบริการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดประมาณว่าปี 2583 จะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 20.5 ล้านคน...คิดเป็นร้อยละ 32 ของประชากรไทย ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพ ภาครัฐระบุปี 2565 จะมีค่าใช้จ่ายสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 60,000 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 220,000 ล้านบาท

เงื่อนปัญหาเกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่สูงขึ้นตามอายุ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก่อนการเสียชีวิต

ทั้งนี้ “ผู้สูงอายุ” ส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคเข่าเสื่อม โรคซึมเศร้า เป็นผู้พิการ ผู้ป่วยนอนติดเตียงและเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 56.7

“รัฐบาลจึงได้อนุมัติงบเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ทั้งกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียงหนึ่งแสนคนให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ทุกอำเภอ อำเภอละหนึ่งตำบลทั่วประเทศ จะได้รับการดูแลจากทีมสหสาขาวิชาชีพที่บ้านอย่างสม่ำเสมอตามปัญหาสุขภาพ...ชุดสิทธิประโยชน์ ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นมีส่วนร่วม”

พร้อมๆไปกับพัฒนาอาชีพผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ทีมหมอครอบครัว อาสาสมัครในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี เข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม...

ลดภาระ “ค่าใช้จ่าย” สุขภาพภาครัฐ

ภายใต้งบประมาณที่ได้จัดสรร 500 ล้านบาทไปให้กองทุน

หลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น 1,000 แห่งที่มีความพร้อม... เฉลี่ย 5,000 บาทต่อคน และ 100 ล้านบาทให้หน่วยบริการปฐมภูมิใน

พื้นที่ เพื่อจัดบริการดูแลผู้สูงอายุต่อเนื่องที่บ้านและหน่วยบริการ

“กระทรวงสาธารณสุข” จะสนับสนุนการทำงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ส่วน “สปสช.” กำหนดหลักเกณฑ์จัดสรรงบประมาณให้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สนับสนุนการดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสริมว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ สปสช.จะเปิดงานการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย

คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณจำนวน 600 ล้านบาทให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง

“เน้นการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียงกว่าแสนคน...ภายใน 3 ปี จะขยายให้ครบประมาณล้านคน เป็นการสนับสนุนงบให้สถานพยาบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ใน

ภาวะพึ่งพิง”

เดินหน้าสู่เป้าหมาย 3 ปีทั่วประเทศ...ในปีนี้มีเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่และผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง 10% ประมาณ 1,000 พื้นที่ ทั้งเทศบาล อบต.ขนาดใหญ่ และกรุงเทพมหานคร ดูแลได้ 1 แสนราย

ปีหน้า 2560 เป้าหมาย 50% ประมาณ 5,000 เทศบาล...ตำบล ดูแลผู้สูงอายุ 500,000 ราย และในปี 2561 เป้าหมาย 100%...ครอบคลุมทุกเทศบาล...ตำบล ดูแลผู้สูงอายุได้ 1,000,000 ราย

ในระยะยาว พุ่งเป้าเชิงรุกในพื้นที่ ด้วยบริการด้านสาธารณสุข เช่น บริการการตรวจคัดกรอง ประเมินความต้องการดูแล บริการดูแลที่บ้าน บริการสร้างเสริมสุขภาพ...ป้องกันโรค บริการกายภาพบำบัด บริการกิจกรรมบำบัด บริการเภสัชกรรม บริการโภชนาการ และอุปกรณ์เครื่องช่วยทางการแพทย์

ส่วนบริการด้านสังคม อาทิ บริการช่วยเหลืองานบ้าน การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน บริการอุปกรณ์ช่วยเหลือทางสังคม กิจกรรมนอกบ้าน และอื่นๆ

“หลอมรวมเครือข่าย...หลากหลายเพื่อหนึ่งเดียว รวมพลังสร้างสรรค์หลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน” ...ท้ายที่สุดแล้ว “ประชาชน” นั่นเองที่เป็นเจ้าของ “ระบบหลักประกันสุขภาพ” ที่แท้จริง.


pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved