HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 14/04/2555 ]
cobas HPV Test เครื่องถอดรหัส..."มะเร็งปากมดลูก"

ปี 2554 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ประกาศรับรอง วิธีการทดสอบ cobas HPV Test 4800 ซึ่งเป็นวิธีตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มีเครื่องมือ 2 ชนิดในการทดสอบ คือ cobas x 480 หรือเครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ และเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ ที่สามารถเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมและตรวจจับสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เรียกว่า cobas z 480
          การทดสอบด้วยเครื่องมือ 2 ชนิดนี้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่ใช้เทคนิคขั้นสูง แบบ Real-time PCR ความพิเศษของระบบทดสอบนี้ก็คือ สามารถตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus Virus) กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 14 สายพันธุ์สำคัญที่สุด คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบมากถึง 74% ในผู้หญิงไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกและ 70% ในผู้หญิงทั่วโลก!
          “ทุกๆวันจะมีผู้หญิงไทยตายด้วยมะเร็งปากมดลูก 14 คน ขณะที่ทุกๆปี ผู้หญิงเกือบ 500,000 คน ถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเสียชีวิต” นพ.วิสิทธ์ สุภัคร-พงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และหัวหน้าแผนกมะเร็งนรีเวช รพ.บำรุงราษฎร์ บอกถึงสถานการณ์มะเร็งปากมดลูก
          หลายครั้งที่การทำ “แพปเสมียร์” ไม่เพียงพอต่อการที่จะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก การทำแพปเสมียร์เป็นเพียงการสังเกตความผิดปกติของเซลล์ในปากมดลูก แต่ไม่สามารถที่จะตรวจพบเชื้อ HPV สายพันธุ์กลุ่มเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้
          “สตรีที่โด่งดังหลายคน จบชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกในวัยเพียง 40 ต้นๆ ไม่เว้นแม้แต่ เอวิต้า เปรอง อดีตสตรี หมายเลข 1 ของอาร์เจนตินา ที่เป็นถึงผู้นำประเทศ เหมย เยี่ยน ฟาง นักร้อง นักแสดงชื่อดังของจีน หรือดาราสาวของไทย กุ้งนาง ปัทมสูต ที่แม้จะเคยรักษามะเร็งปากมดลูกจนหาย แต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นอีก และเสียชีวิตในที่สุด”
          มะเร็งปากมดลูกไม่ต่างอะไรกับฆาตกรเงียบ ที่บ่อยครั้งคนไข้ไม่มีอาการอะไรเลย จนกระทั่งผู้ป่วยมีอาการหนัก เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด มีประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ มีเลือดออกทั้งที่หมดประจำเดือนไปแล้ว มีตกขาวเพิ่มมากขึ้น มีเลือดออกระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ ก็หมายความว่า มะเร็งได้เข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว
          การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV กลุ่มเสี่ยงพร้อมกับการตรวจแพปเสมียร์ จะทำให้แพทย์สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ขั้นตอนรอยโรคก่อนมะเร็ง ซึ่งสำคัญมาก เพราะมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะรักษาให้หายขาดได้ถึง 98%
          มีคำถามว่า ทำไมการตรวจหาสายพันธุ์ HPV ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจึงมีความจำเป็น คุณหมอวิสิทธ์ บอกว่า เชื้อไวรัส HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มีแค่ 14 สายพันธุ์เท่านั้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก และในจำนวนนี้ มีเพียง 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18 ที่อันตรายที่สุด
          การศึกษาของ ศ.วอร์เนอร์ เค ฮา ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์ สาขามะเร็งนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยอะลาบามา สหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า ATHENA ด้วยวิธีทดสอบหาสายพันธุ์ HPV ในสตรี 47,000 คน พบว่า 1 ใน 10 ของสตรีที่ตรวจพบเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 เสี่ยงต่อการเป็นรอยโรคก่อนมะเร็ง ทั้งๆที่ผลการตรวจแพปเสมียร์เป็นปกติ นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า สตรีที่ตรวจพบการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่ากลุ่มที่ตรวจไม่พบ HPV สายพันธุ์เดียวกันถึง 35 เท่า
          ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับสองของโลก ส่วนประเทศไทยเราอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกสูงสุด
          อาการของมะเร็งปากมดลูกที่สังเกตได้ง่าย คือตกขาวเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว หรืออาจปนเลือด มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น เลือดออกกะปริดกะปรอย น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อ่อนเพลีย
          สำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก คือ ผู้หญิงที่แต่งงานเมื่ออายุน้อย คลอดบุตรหลายคน มีคู่นอนหลายคน เป็นกามโรคบ่อยๆ สามีเป็นมะเร็งที่องคชาตหรือเคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก มีประวัติในครอบครัว เช่น มีญาติผู้หญิงเป็นมะเร็งปากมดลูก
          ถ้ามีความเสี่ยงและอาการอย่างที่ว่า อย่ารอช้า รีบไปพบแพทย์ทันที
          มะเร็งทุกชนิด...รู้เร็วรักษาได้ แต่ถ้ารู้ช้า... “ตาย” ทุกราย!--จบ--


pageview  1204972    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved