HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 17/01/2557 ]
ผอมแบบการ์ตูนเตือนโจ๋สาวถึงตายสั่งซื้ออาหารเสริมทางอินเตอร์เน็ต
 อย.เตือนวัยรุ่นสาวอยากสวย ฮิตลดน้ำหนักกินอาหารเสริม ชา กาแฟ น้ำผลไม้ โดยสั่งจากอินเตอร์เน็ต หวังได้หุ่นผอมเพรียวคล้ายการ์ตูนญี่ปุ่น อึ้งผู้ใช้ยาส่วนใหญ่เป็นคนที่มีน้ำหนักปกติ แต่อยากรีดไขมันเลียนแบบหุ่นดารา ชี้ใช้ยามากเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
          ปัญหาของคนอยากผอมแต่กลับเลือกใช้ยาลดน้ำหนักจนมองข้ามผลข้างเคียง ทำให้เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกมากล่าวเตือนอีกว่าขณะนี้กระแสนิยมของวัยรุ่นไทยทั้งนักเรียน นักศึกษา จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิงและหญิงข้ามเพศ มีค่านิยมที่จะต้องมีรูปร่างผอม เพรียวมาก คล้ายการ์ตูนญี่ปุ่น จึงจะเรียกว่ามีรูปร่างดี เพื่อสวมใส่ เสื้อผ้าทันสมัยซึ่งมีขนาดเล็ก ทำให้วัยรุ่นที่อ้วนหรือเพียงรู้สึกว่าตัวเองอ้วน ก็จะรีบลดน้ำหนักโดยใช้ทางลัด คือ ไม่ออกกำลังกายสลายไขมัน แต่เข้าสถานบริการลดความอ้วน ซึ่งปัจจุบันก็มีการเปิดเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้ยาลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี จากการบอกปากต่อปากในกลุ่มเพื่อนที่ใช้ โดยสั่งซื้อยาผ่านทางอินเตอร์เน็ต จากร้านขายยาหรือสถานบริการลดความอ้วน ในรูปแบบต่างๆ เช่น อาหารเสริม ชา กาแฟ และน้ำผลไม้ เป็นต้น และมักจะมีการโฆษณาเกินจริงว่ามีสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก จนทำให้มีผู้หลงเชื่อและเข้าไปใช้บริการ จนได้รับผล ข้างเคียงถึงขั้นเสียชีวิต จากการได้รับยาเกินขนาด มีโรคประจำตัว รวมถึงการใช้ยาที่ห้ามใช้ อย่างไรก็ตามยาลดความอ้วนที่ใช้กันในปัจจุบันมี 2 กลุ่ม คือยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบลำไส้ ยับยั้งการดูดซึมของสารอาหาร และยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อลดความอยากอาหาร กินแล้วไม่หิวง่าย เช่น เฟนฟลูรามีน, เด็กซ์เฟนฟลูรามีน, ไซบูทรามีน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนยาทุกตำรับที่มีส่วนผสมของยาชนิดนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 และ 2553 ตามลำดับ จึงทำให้ในไทยไม่มีการใช้ยาดังกล่าว
          ภก.ประพนธ์กล่าวต่อว่า สำหรับการใช้ยาเฟนเตอมีน ที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ซึ่งห้ามการผลิต ขาย นำเข้าและส่งออก ซึ่งยาดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การดูแลของ อย.เท่านั้น หากโรงพยาบาลหรือคลินิกจะใช้ต้องมาสั่งซื้อจาก อย.เท่านั้น และการใช้ยาดังกล่าวต้องมีแพทย์เป็นผู้ที่สั่งใช้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ ได้แนะนำประเทศสมาชิก เฝ้าติดตามการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มดังกล่าวด้วย เนื่องจากพบว่ามีการใช้ยาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และมีรายงานการใช้ยาในทางที่ผิด โดยมีการซื้อยาจากตลาดมืด นอกจากนี้ยังพบอีกว่ากลุ่มที่ใช้ยาลดความอ้วนส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มคนอ้วน แต่คนซื้อมักเป็นกลุ่มคนที่มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติ ซึ่งต้องการลดความอ้วน โดยมักเกิดมาจากกระแสเลียนแบบดารา หรือต้องการทำตามเพื่อน
          ภก.ประพนธ์กล่าวอีกว่า ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการใช้ยาลดความอ้วน คือ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่า ท้องผูก หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิด การติดยาได้ ยาลดความอ้วน ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มี ภาวะซึมเศร้า เนื่องจากฤทธิ์ของยาจะกระตุ้นอาการซึมเศร้าให้รุนแรงขึ้น และห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เนื่องจากเป็นวัยกำลังเจริญเติบโต ยาอาจมีผลต่อการเจริญพันธุ์ในวัยหนุ่มสาว รวมถึงห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับ ผลของการใช้ยาลดน้ำหนักที่ถูกต้อง ดังนั้น ขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะวัยรุ่นว่าอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์อาหารที่โฆษณาทางอินเตอร์เน็ตว่าสามารถลดความอ้วน หรือควบคุม น้ำหนักได้ เพราะอาจได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

pageview  1205453    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved