HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 19/12/2556 ]
ธาลัสซีเมีย รักษาหายด้วยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
 โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งสามารถป้องกันได้ หากคู่สมรสได้รับการตรวจเลือดก่อนการตั้งครรภ์เพื่อวินิจฉัยหาพาหะของโรคและรักษาให้หายขาดได้ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตและเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ร่วมกับสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาโลหิตวิทยาพบประชาชน ครั้งที่ 4 เรื่อง "บอกลา...ธาลัสซีเมีย" ขึ้นที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อเร็วๆนี้
          พ.อ.รศ.นพ.กิตติ ต่อจรัส จากรพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า สถานการณ์การเกิดโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในภูมิภาคเอเชีย พบว่ามีอัตราการเกิดโรค 1-5 รายต่อประชากรเกิดใหม่ 1,000 ราย สำหรับในประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย ร้อยละ 1 ของประชากร หรือ 6 แสนคน ส่วนผู้เป็นพาหะธาลัสซีเมีย มีร้อยละ 30-40 หรือประมาณ 35 ล้านคน นับว่าเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับโรคอื่น ทั้งนี้โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีสาเหตุจากได้รับยีนธาลัสซีเมียจากพ่อและแม่ ทำให้การสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ เม็ดเลือดแเดงจึงแตกง่าย เป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผู้มียีนธาลัสซีเมียเป็นได้ 2 แบบคือ จะมียีนของโรคธาลัสซีเมียเพียงยีนเดียว เรียกว่า "ธาลัสซีเมียแฝง" ซึ่งผู้มีจะมีสุขภาพปกติ ไม่ติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง แต่สามารถถ่ายทอดยีนนี้ไปสู่ลูกได้และอาจให้ยีนข้างที่ปกติ หรือยีนข้างที่ผิดปกติก็ได้ ส่วนอีกแบบคือ ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งได้รับยีนที่ควบคุมการสร้างเม็ดเลือดที่ผิดปกติ มาจากทั้งพ่อและแม่ โดยต้องเป็นผู้มียีนผิดปกติทั้ง 2 ข้าง และก็สามารถถ่ายทอดความผิดปกติข้างใดข้างหนึ่งต่อไปให้ลูกแต่ละคนอีกด้วย ในคู่สามี-ภรรยาที่มีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย แสดงว่าทั้งคู่เป็นพาหะ และคนที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ถ้ามีลูก อย่างน้อยลูกทุกคนก็จะเป็นพาหะ สำหรับการป้องกันโรคนี้ทำได้ด้วยการตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยพาหะธาลัสซีเมีย เป็นวิธีการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะคู่ที่จะแต่งงาน ควรได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยก่อนตั้งครรภ์การดูแลรักษากรณีที่รุนแรงสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือสเต็มเซลล์นั่นเอง
          พญ.สร้างสอางค์ พิกุลสด อ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดหาผู้บริจาคสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค ที่ไม่ใช่ญาติ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ปัจจุบันมีอาสาสมัครลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์กว่า 140,000 ราย แต่มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ต้นกำเนิดโลหิตจากผู้บริจาคแล้วจำนวน 145 ราย และยังมีผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายจากผู้บริจาคอีกกว่า 1,330 ราย ดังนั้นในปี 2560 ศูนย์บริการโลหิตฯ มีเป้าหมายที่จะจัดหาอาสาสมัครบริจากสเต็มเซลล์ให้ได้จำนวน 200,000 ราย เพื่อจะเพิ่มโอกาสผู้ป่วยให้ได้รับการรักษามากขึ้น.

pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved