HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 29/10/2556 ]
รพ.จุฬาภรณ์ กับภารกิจสนองพระปณิธาน"เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์" ดึงคนไทยพ้น..."มะเร็ง"ร้าย

 

 มะเร็ง!
          โรคร้ายที่คร่าชีวิตประชาชนคนไทยเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว
          จากข้อมูลของ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่มีการสำรวจล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2552 พบจำนวนผู้ป่วยใหม่ 102,791 คน มะเร็งที่พบมากในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ 13,281 คน ปอด 8,403 คน ลำไส้และทวารหนัก 4,790 คน ต่อมลูกหมาก 2,400 คน และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 1,994 คน ส่วนในผู้หญิงที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ มะเร็งเต้านม 10,193 คน ปากมดลูก 6,452 คน ตับ 6,143 คน ปอด 4,322 คน ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 4,144คน
          ซึ่งจำนวนของผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง จากข้อมูลของ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ที่รวบรวมจากทุกจังหวัดทั่วประเทศใน พ.ศ.2554 พบทั้งหมด 61,082คน หรือ 1 ใน 5 ของการเสียชีวิตทุกสาเหตุของคนไทยในแต่ละปี โดยเป็นชาย 35,437 คน หญิง 25,645 คน
          โดยมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งตับ 10,189 คน มะเร็งปอด 6,769 คน มะเร็งลำไส้ 1,501 คน มะเร็งช่องปากและคอหอย 1,314 คน และมะเร็งเม็ดเลือดขาว 1,135 คน ส่วนในผู้หญิง ได้แก่ มะเร็งตับ 4,125 คน มะเร็งปอด 3,434 คน มะเร็งเต้านม 2,724 คน มะเร็งปากมดลูก 1,749 คน และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1,146 คน
          และแม้ว่าโรคมะเร็งจะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด หากผู้ป่วยไปตรวจพบในระยะท้ายๆ แต่หากตรวจพบเชื้อมะเร็งในระยะเริ่มต้น โอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ก็มีอยู่ไม่น้อย
          โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จึงเริ่มดำเนินการจัดทำ โปรแกรมประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งออนไลน์ ขึ้น ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.thaicancerrisk.com เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสประเมินความเสี่ยงของตัวเองว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งมากน้อยเพียงใด และสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
          นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ บอกว่า ทางโรงพยาบาลเริ่มใช้โปรแกรมดังกล่าวช่วงปลายปี 2555 เพื่อต้องการให้ประชาชนได้ทดสอบความเสี่ยงของตัวเองในการที่จะเกิดโรคมะเร็ง โดยผลการประเมินจะทำให้ทราบปัจจัยเสี่ยง แต่เมื่อพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไร อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจถึงความเสี่ยงนั้น หากพบว่ามีโอกาสเกิดมะเร็งจะสามารถทำให้ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และมีโอกาสหายขาดได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีผู้เข้าระบบเพื่อทำแบบประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งแล้วกว่า 30,000 ราย
          นอกจากนี้ คุณหมอพิทยภูมิ ยังระบุด้วยว่า ในวันที่ 29 ต.ค.นี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์จะครบรอบ 4 ปี และในการเข้าสู่ปีที่ 5 ของการก่อตั้งโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลมีแผนการดำเนินงานในโครงการบำเพ็ญพระกุศล เนื่องใน วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬา ภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี วันที่ 4 ก.ค.ของทุกปี ซึ่งทางโรงพยาบาลมีการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดย ในปี 2557 จะดำเนินการโครงการตรวจรักษาแบบเฉพาะบุคคลในมะเร็งปอด และลำไส้ใหญ่ ซึ่งการรักษาแบบเฉพาะบุคคลนี้ จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนมากขึ้น
          “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระปณิธานในการก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงการ รักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับโลก ดังนั้นพระองค์จึงทรงโปรดให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ในการรักษามะเร็งที่ทันสมัยมาโดยตลอด ล่าสุดทรงโปรดให้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ในการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน หรือ Proton Therapy ซึ่งเป็นการฉายรังสีรักษาที่มีประสิทธิภาพแม่นยำ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอวัยวะข้าง เคียง โดยจะมีการพิจารณาหาบริษัทที่มีการจัดจำหน่าย เครื่องมือดังกล่าวในเดือน ม.ค. 2557” ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้า ลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมีต่อประชาชนคนไทยที่ต้องเผชิญกับโรค “มะเร็ง” ร้าย
          “ทีมข่าวสาธารณสุข” ในฐานะพสกนิกรไทยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นอย่างยิ่ง ที่พระองค์ทรงห่วงใยในประชาชนคนไทยที่ต้องประสบกับโรคร้ายอย่างมะเร็ง ให้มีโอกาสได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
          ทั้งนี้เราเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า คนที่รู้ตัวว่ามีปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดโรคมะเร็ง
          กล่าวคือ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจจะได้รับสารก่อมะเร็ง หรือดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เป็นประจำ รวมไปถึงชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารดิบ อาหารเค็ม หรือมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง รวมทั้งคนที่ตากแดดเป็นประจำ ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจ เพราะเชื้อมะเร็งนั้นจะใช้เวลานานในการฟักตัว ดังนั้นการหมั่นพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งจึงน่าจะเป็นหนทางปฏิบัติที่ถูกต้องที่สุด และหากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะได้เข้ารับการรักษาในระยะเริ่มต้น ซึ่งมีโอกาสที่จะหายขาดจากโรคมะเร็งได้
          เพราะแม้วิทยาการในการรักษาโรคมะเร็งจะก้าวหน้าไปมาก จนสามารถช่วยรักษาผู้ที่ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้นให้หายจากโรคร้ายนี้ได้
          แต่ไม่ว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์จะก้าวไกลไปมากเพียงใด ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการที่ประชาชนทุกคนใส่ใจ ดูแลสุขภาพของตัวเอง ให้ห่างไกลโรคร้าย
          ดั่งคำพระธรรมสอนที่ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา”
          “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” ที่สุดแล้วในชีวิตมนุษย์...
          ทีมข่าวสาธารณสุข

pageview  1205465    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved