HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 25/09/2556 ]
ระดมสมองป้องกันปัญหาวัยว้าวุ่นพ่อแม่ต้องสอนลูกรู้บทบาททางเพศ

  ปัญหาของวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงวัยว้าวุ่น โดยเฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์ ที่ตั้งท้องก่อนวัยอันควร กลายเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จากข้อมูลสถิติอัตราการคลอดในกลุ่มวัยรุ่นของไทยสูงเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งกระแสจากการตีแผ่ปัญหาวัยรุ่นของละครซีรีส์ยอดฮิต "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" จึงทำให้ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ช่วยระดมสมองเพื่อหาทางป้องกันในเรื่อง "เซ็กซ์ปลอดภัย...วัยว้าวุ่น" ขึ้นที่ตึก อปร. รพ.จุฬาฯ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา
          การเสวนาเริ่มด้วย รศ.นพ.สุรสิทธิ์ ชัยทองวงศ์วัฒนา ได้บรรยายถึง "ทำไมต้องเซ็กซ์ปลอดภัยในวัยว้าวุ้น" เพราะเราเป็นแชมป์ที่มีอัตราวัยรุ่นไทยตั้งครรภ์จำนวนมากมาหลายสมัยแล้ว เด็กผู้หญิงที่คลอดลูกอายุต่ำสุด 8 ปี เด็กผู้ชายที่เป็นพ่ออายุต่ำสุด 10 ปี และล่าสุด 1 ใน 7 ของผู้หญิงคลอดบุตร คือ เด็กวัยรุ่น ไม่นับที่ทำแท้ง ซึ่งเด็กวัยรุ่นในประเทศอายุ 15-19 ปี มีประมาณ 5 ล้านคน ซึ่ง 1 ใน 4 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ดังนั้นการห้ามเด็กไม่ให้มีเพศสัมพันธ์นั้น ห้ามได้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่สามารถยับยั้งได้ เราจะป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้อย่างไร แล้วผู้ใหญ่จะเปิดใจกว้างให้เด็กไทยได้พกถุงยางหรือไม่ เหล่านี้เราคงต้องมาพูดคุยกัน
          จากนั้นได้มีการระดมสมองเสวนาในเรื่อง "ฮอร์โมน...ทำอย่างไรจึงไม่ว้าวุ่น" ซึ่ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับละครซีรีส์ เรื่อง "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" กล่าวว่า ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำละครให้เป็นการสะท้อนสังคม แต่อยากทำละครที่ครอบคลุมชีวิตวัยรุ่นเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลที่ได้มา สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมันไปไกลกว่าที่ละครนำเสนอเยอะเลย ส่วน กรรณิการ์ ธรรมเกษร นักพูดชื่อดัง กล่าว่า ตนมองว่าการสอนให้รักนวลสงวนตัวยังคงใช้ได้และต้องสอนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยวิธีการสอนต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุค ต้องสอนวิธีคิดให้เขาคิดเป็น ให้รู้จักวิธีคิดให้รอบคอบ ขณะที่ นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล กล่าวว่า ปัญหาที่ต้องป้องกันในเรื่องนี้มี 5 ระดับ ขั้นแรกพ่อแม่ทุกคนสอนเสมอว่า ให้ลูกๆ ตั้งใจเรียน รอเรียนให้จบก่อนแล้วค่อยมีความรัก จากนั้นถ้าลูกมีแฟน ก็ต้องบอกว่า มีแฟนได้แต่อย่าเพิ่งมีเซ็กส์ ช่วงนี้จะเกิดขึ้นในช่วงมัธยม ในระดับอุดมศึกษาจะเป็นอีกขั้น คือมีเซ็กซ์แล้วทำอย่างไรไม่เกิดการตั้งครรภ์ ตามมาด้วยการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ให้ไปทำแท้ง และทำแท้งอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ตนมองว่า การรณรงค์เรื่องสวมถุงยางนั้นเทียบเท่ากับการเมาแล้วไม่ขับ เพราะเด็กตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียบร้อย ไม่ประสีประสา
          สุดท้าย ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์สถียร กล่าวว่า พ่อแม่ควรมีการพูดคุยกับลูกเรื่องเพศ สอนเขาตั้งแต่เล็กๆ ไม่ใช่สอนเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ให้สอนเรื่องบทบาททางเพศ ปฏิกิริยาของร่างกาย การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ สอนลูกๆ ให้คิด เซ็กซ์คืออะไร ความสัมพันธ์เป็นอย่างไร ถ้าช่วงวัยรุ่นยังคิดไม่ออก เราก็ต้องควบคุมดูแลไม่ให้ลูกๆ เกิดความเสี่ยง การแก้ปัญหาต่างๆ ต้องเริ่มต้นด้วยการยอมรับว่า เรามีปัญหาอยู่จริง ถ้าไม่ยอมรับเราก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้


pageview  1205163    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved