HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 16/09/2556 ]
เตือนอันตรายเกลือดิน ที่ใช้ทำ"ปลาร้า" เปื้อนสารหนู "ตะกั่ว-ปรอท" ไม่ควรบริโภค

  เภสัชกร สส.จ.อุบลราชธานี "เกลือดิน" ที่ใช้ทำอาหารคู่ครัวคนอีสาน ทั้งปลาร้าส้มผักปลาแห้ง ใน 4 อำเภอของอุบลฯ และบางอำเภิใน 4 จังหวัดภาคอีสานปนเปื้อนโลหะหนักทั้งสารหนูตะกั่ว ปรอท ล้วนก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายทั้งระบบประสาท โลหิต ทางเดินอาหาร มีพิษกับตับ ไต รวมถึงเสี่ยงมะเร็ง แต่ยังไม่ชัดเจนที่มาของโลหะหนักอาจมาจากสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป สสจ.สั่งห้ามบริโภค ขณะเดียวกันก็เร่งหาแนวทางใช้ประโยชน์รูปแบบอื่นเหตุเป็นภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่น
          ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ถึงการนำเสนอผลงานวิจัยของ ภญ.กาญจนา มหาพล เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุบลราชธานีเรื่อง "สถานการณ์การปนเปื้อนโลหะหนักในเกลือที่ผลิตจากดินจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2554-2555" ภายในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2556 ที่จัดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น เมื่อไม่นานนี้โดย ภญ.กาญจนา กล่าวว่า การผลิตเกลือจากดินที่ได้จากผิวหน้าดินและจะสามารถขูดเก็บขุยเกลือได้เฉพาะฤดูแล้งหรือช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. เท่านั้นซึ่งชาวบ้านมักเรียกเกลือสินเธาว์ชนิดนี้ว่า เกลือดินนิยมนำมาทำปลาร้า ส้มผัก ปลาแห้ง แทนการใช้เกลือสินเธาว์แบบเกลือบาดาลที่ทำกันทั่วไป ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าหากใช้เกลีอดินปลาร้าจะอร่อยกว่าใช้เกลือบาดาล แต่ที่จริงแล้วใช้เกลือแบบไหนก็อร่อยเหมือนกัน อย่างไรก็ตามจากการเก็บตัวอย่างเกลือดินที่ผลิตในอำเภอเขื่องใน, เหล่าเสือโก้ก, ตระการพืชผลและอำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี จำนวน 20 ตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์หาโลหะหนัก 5 ชนิด คือ สารหนู ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และทองแดง ที่บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง(ประเทศไทย) จำกัด สาขาขอนแก่นผลการตรวจวิเคราะห์พบว่าปนเปื้อนสารหนู 14 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 70 ตะกั่ว 12 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 60 ปรอท 2 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 10 ทองแดง 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 45 แต่ไม่พบการปนเปื้อนแคดเมียม และไม่มีตัวอย่างใดที่ผ่านเกณพ์โลหะหนักทั้ง 5 รายการ บางตัวอย่างไม่ผ่าน 3 รายการ และ 2 รายการ โดยการพิจาณาผลการตรวจหาโลหะหนัก 5 รายการ ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนและมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.เกลือบริโภค) โดยเลือกค่าต่ำสุดเป็นเกณฑ์ คือ สารหนู ใช้เกณฑ์ 0.50 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ตะกั่วใช้เกณฑ์ 1.00 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรอท ใช้เกณฑ์ 0.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แคดเมียม ใช้เกณฑ์ 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและทองแดง ใช้เกณฑ์ 2.00 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
          ภญ.กาญจนา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะผู้วิจัยได้สำรวจเกลือดินในอีก 4 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ร้อยเอ็ด ซึ่งตรวจที่ อ.จตุรพักตรพิมาน และ อ.ธวัชบุรี จ.ยโสธร ตรวจที่ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.อำนาจเจริญ ตรวจที่ อ.ลืออำนาจ และ จ.ชัยภูมิตรวจที่ อ.เมือง รวม 22 ตัวอย่างผลการวิเคราะห์พบการปนเปื้อน เช่นกัน ได้แก่ สารหนู 19 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 86.4 ตะกั่ว 17 ตัวอย่างหรือร้อยละ 77.3 ปรอท 4 ตัวอย่างคิดเป็น ร้อยละ 18.2 สังกะสี 1 ตัวอย่างหรือร้อยละ 4.5 และไม่พบการปนเปื้อนแคดเมียมและทองแดงส่วนอะลูมิเนียมไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน
          "จากการร่วมมือกับสำนักงานที่ดิน เขตที่ 4 ในการสำรวจสภาพแวดล้อมของพื้นที่ทำเกลือดินบ่อเบ็นนาเกลือทั้งดินและน้ำที่ จ.อุบลราชธานี พบว่าน้ำไม่มีการปนเปื้อนของโลหะหนักแต่พบว่าดินมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่าดินมีการปนเปื้อนจากที่ไหนแต่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบ่อเบ็น มีแหล่งรับซื้อของเก่า แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่า โลหะหนักที่พบมาจากแหล่งรับซื้อขายเก่าเนื่องจากอีก 4 จังหวัดที่เก็บตัวอย่างดินบ่อเกลือดินก็ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีการรับซื้อของเก่า จึงต้องศึกษาต่อไปแต่ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ อันตรายของโลหะหนัก หากเป็นสารหนูเป็นสารก่อมะเร็ง ตะกั่วมีพิษต่อระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบโลหิต ระบบไตและทางเดินปัสสวะ ส่วนปรอทมีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เสียการควบคุมเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูด และยังทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไปเช่นการได้ยินการมองเห็นส่วนแคดเมียมมีพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ไต กระดูก ผิดรูป ขณะที่ทองแดง มีพิษต่อตับ ร่างกายสั่นเทาตลอดเวลากล้ามเนื้อแข็งแกร่ง" ภญ.กาญจนา กล่าว
          พร้อมกันนี้ ภญ.กาญจนา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สสจ.ได้ออกคำแนะนำไม่ให้ประชาชนบริโภคเกลือดินแล้ว เพราะไม่ปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดหาแนวทางในการส่งเสริมให้นำเกลือดินไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นเพื่อให้ความปลอดภัยต่อประชาชนและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ เนื่องจากการผลิตเกลือจากดินเป็นวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีคุณค่าและในการผลิตเกลือดินยังสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่เฉพาะที่แหล่งผลิตเกลือดินที่บ่อเบ็นนาเกลืออ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี รวม 1-2 ล้านบาท ไม่แพ้การทำนาข้าว


pageview  1205835    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved