HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 21/08/2556 ]
อย.ยกเครื่องใหม่เตือนภัย!อาหาร-ยา

  แม้ว่า อย.จะดำเนินการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แต่ในความเป็นจริงผู้บริโภคก็ควรปกป้องตัวเองด้วย
          ก่อนที่จะเลือกซื้อ...เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน...อย่าได้หลงเชื่อคำโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น อ้างว่าสามารถป้องกัน หรือรักษาโรคได้
          ซึ่งล้วนเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น เพราะ “อาหาร” ไม่ใช่ “ยา” จึงไม่สามารถป้องกัน บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคได้ ทั้งยังทำให้ต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์และเสียโอกาสในการรักษาโรคอย่างถูกต้อง
          สำหรับผู้ประกอบการ ขอให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม อย่าได้โฆษณาด้วยวิธีใดๆในลักษณะที่เกินความเป็นจริง
          นโยบายเร่งด่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่งเสริมผู้ประกอบการให้แข่งขันในตลาดโลกได้ และประชาชนได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ
          ส่งผ่านมายัง อย.ให้สร้างธรรมาภิบาล เปิดแนวรุกเน้นการดำเนินงานที่มีคุณภาพ รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดดุลพินิจการพิจารณาอนุญาตการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ลดขั้นตอนการขออนุญาต...ไม่ให้ อย.เป็นแดนสนธยาเหมือนในอดีต มีลับลมคมใน...ในกระบวนการขออนุญาต
          ในทางปฏิบัติ อย.จะต้องมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน จัดให้มีระบบข้อมูลเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชน...ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ได้รับรู้อย่างกว้างขวาง...ต่อเนื่อง และในขณะเดียวกัน ยังคงเข้มขลังในเรื่องการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค
          “วันนี้เราจะเน้นความรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดขั้นตอน...ลดระยะเวลา พัฒนาคุณภาพการให้บริการ พร้อมๆกับยกเครื่องการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ...”
          นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา บอก
          โดยเฉพาะการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย เช่น อาหารโอทอปให้มีคุณภาพมาตรฐาน Primary GMP...เน้นรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้
          ลดดุลพินิจ The right to say “NO”...ไม่กีดกันทางธุรกิจ ในการพิจารณาคำขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งต้องปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันตามคู่มือวิธีขั้นตอนการขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ (SOP)
          “หากพิจารณาอนุญาต สามารถดำเนินการได้เลย... แต่หากพิจารณาแล้วไม่อนุญาต ให้เสนอรองเลขาธิการฯ อย. เพื่อพิจารณาในการไม่อนุญาต”
          พร้อมกันนี้ อย.ยังได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนเกี่ยวกับการขออนุญาต การจดแจ้ง การขึ้นทะเบียน...
          การรับพิจารณาเอกสาร การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารกับผู้ยื่นขอ การพิจารณาเอกสารภายในระยะเวลาที่กำหนด การแจ้งเตือนเมื่อใกล้ครบกำหนดเวลา และการแจ้งผลการพิจารณาอนุญาตให้แล้วเสร็จตามเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความรวดเร็ว ที่สำคัญ...สามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้
          ยกตัวอย่าง...“ผลิตภัณฑ์อาหาร” ปรับลดเวลาการขอเลขสารบบอาหารของกาแฟ ชาสมุนไพร จากเดิม 35 วัน...เป็น 1-2 วัน และปรับระเบียบการยื่นคำขอที่ต้องใช้เอกสารฉบับจริงจากต่างประเทศ ให้สามารถใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนประกอบการยื่นคำขอได้
          พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติในการพิจารณาอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ในกระบวนงานการยื่นคำขอ การพิจารณาคำขอ การแก้ไข...ส่งเอกสาร ผลวิเคราะห์เพิ่ม จากที่เคยใช้เวลาถึง 70 วัน...ปรับใหม่เป็น 20 วันทำการ
          โดยให้ผู้ประกอบการคุณภาพประเมินตนเองตามข้อกฎหมาย และ อย.ทวนสอบการประเมินผลิตภัณฑ์ การปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติในการพิจารณาอนุญาตใหม่นี้ พร้อมให้บริการต้นปี 2557 ในผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ไอศกรีม นมโค นมปรุงแต่ง ผลิตภัณฑ์นมและนมเปรี้ยว
          ถัดมา “ผลิตภัณฑ์ยา” ปรับขั้นตอนการพิจารณาคำขอที่เป็นไปตามตำรายาที่รัฐมนตรีประกาศให้ระดับเจ้าหน้าที่เป็นผู้พิจารณา การเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกของภาคการศึกษา เพื่อช่วยการดำเนินงานให้เร็วขึ้น และอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้มีบุคคลภายนอกฝ่ายที่ 3 เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการคัดกรองคำขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยา
          ตัวอย่างต่อมา “ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง”...มีเกณฑ์การพิจารณาข้อมูลประกอบการรับแจ้งเครื่องสำอางตามความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความรวดเร็วในการจดแจ้งรายละเอียด และมีคู่มือการพิจารณาการจดแจ้งเครื่องสำอางควบคุม สำหรับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ โดยคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน
          ตัวอย่างสุดท้าย “ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย”...ปรับลดระดับการควบคุมผลิตภัณฑ์ไล่ยุงหรือไล่แมลงที่มีน้ำมันตะไคร้หอมเป็นส่วนประกอบ จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 2...เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ทำให้สามารถลดระยะเวลาการขออนุญาตจาก 75 วันทำการ เป็น 3 ชั่วโมง และเพิ่มช่องทางการชำระค่าธรรมเนียมต่างๆผ่านธนาคาร
          รวมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศโลจิสติกส์แล้ว 1 ระบบ โดยผู้ประกอบการสามารถแจ้งปริมาณการผลิตหรือส่งออกรายปี และแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
          สำหรับอนาคต...ก้าวต่อไปของ อย.เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นับตั้งแต่ความพร้อมของฐานข้อมูล เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบบูรณาการกับกรมศุลกากร คุณหมอบุญชัย บอกอีกว่า เราจะเปิดให้บริการ “แจ้งรายละเอียดผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการนำเข้า (License per Invoice)” เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ในการนำเข้า-ส่งออกให้ผู้ประกอบการ
          นอกจากนี้ ยังช่วยให้ อย.ได้รับข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างครบถ้วน เหมือนเอาน้ำดีไปไล่น้ำเสีย...เป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น โดยเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุเสพติดเริ่มตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2556
          สำหรับผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะทยอยดำเนินการให้แล้วเสร็จต่อไป
          ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารและยามีมากมาย...หลากหลายในท้องตลาดทั้งที่นำเข้าถูกต้องและลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย ผู้บริโภคต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาฯ อย. ฝากทิ้งท้ายว่า
          หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ แจ้งไปได้ที่ “สายด่วน อย.” โทร. 1556 หรืออีเมล์ : 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004...เพื่อจะได้ปราบปราม ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
          ยกเครื่องใหม่ อย.เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรรู้เอาไว้ จะได้เป็นที่เข้าใจตรงกัน...ไม่สับสน วังเวงเหมือนอดีตที่ผ่านมา.


pageview  1205889    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved