HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 18/07/2556 ]
เช็กสภาพจิตคนไทยสุ่มเสี่ยงสังคมเพี้ยน

  ทราบหรือไม่ ทุกวันนี้คนไทยวัย 15-59 ปี จำนวนนับล้านกำลังเผชิญกับ 3 ปัญหาใหญ่สุขภาพจิต ทั้งติดเหล้ารุนแรง อยากฆ่าตัวตาย และใช้สารเสพติด
          ขณะที่คนไทยวัย 60 ปีขึ้นไป กำลังเผชิญกับ การอยากฆ่าตัวตาย สมองเสื่อม และ โรคซึมเศร้า
          โทษฐานของการที่ใครสักคนได้ชื่อว่า มีปัญหา...สุขภาพจิต ไม่เพียงส่งผลกระทบไปถึงร่างกายและจิตใจของบุคคลผู้นั้น ยังกระทบไปถึงการดำรงชีวิตอีกหลายด้าน เป็นต้นว่า ทำให้มีอายุสั้นลง ตายก่อนวัยอันควร ยิ่งเป็นแล้วปล่อยปละไม่รักษา มักจะถูกโรคทางกายรุมเร้าซ้ำ หลายรายที่มีปัญหาสุขภาพจิต ต้องตกงาน ถูกกีดกัน
          รัศมีของปัญหา ยังฟาดงวงฟาดงาไปถึงญาติพี่น้อง หรือผู้ที่ดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิต นอกจากต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาเยียวยา ผีซ้ำด้ำพลอยยังอาจต้องตามตระเวนจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากการที่ผู้ป่วยไปก่อเรื่องไว้ รวมทั้งถูกรังเกียจจากสังคมหรือคนรอบข้าง ที่รู้ว่าเป็นญาติของผู้ป่วยเหล่านั้น
          วงการจิตเวช ประมาณการเอาไว้ว่า ในจำนวนประชากรไทยปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 67 ล้านคน มีผู้ซึ่งมีปัญหาสุขภาพจิตจำนวน มากกว่า 10 ล้านคนขึ้นไปที่อยู่ในข่ายต้องได้รับการเยียวยา
          แต่กลับพบว่า มีอยู่จริงแค่ราวๆ 800,000 คน หรือ 8% เท่านั้น ที่ได้รับการเยียวยารักษา
          หมายความว่า ชั่วโมงนี้สังคมไทยยังเต็มไปด้วยผู้มีปัญหาสุขภาพจิตอีก 92% ที่แฝงตัวอยู่ทั่วไปในสังคม ไม่ต่างกับระเบิดเวลาลูกใหญ่ ซุกไว้ใต้พรมรอวันทำงาน ปัญหานี้ควรเป็นอีกวาระแห่งชาติ ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน
          ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยี และนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP หน่วยงานซึ่งมีภารกิจหลักประเมิน ปัจจัยต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยเล่าให้ฟังว่า เมื่อปีที่แล้ว จนถึงต้นปีนี้ทั้งเขาและทีมงาน ประกอบด้วย ดร.พญ.เบ็ญจมาส พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ สกาวรัตน์ พวงลัดดา กนกวรรณ สุดศรีวิไล ธีระ ศิริสมุด และ สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล ได้ร่วมกันสำรวจสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิต ที่สำคัญเลือกพื้นที่เป้าหมายตัวอย่าง 5 แห่ง คือ โรงพยาบาลจังหวัดน่าน โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลตาคลี จ.นครสวรรค์ โรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา และโรงพยาบาลดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี
          ทีมงานนี้ ได้ออกไปสำรวจ ทั้ง ภาวะซึมเศร้าทั่วไป โรคซึมเศร้า เรื้อรัง ภาวะไฮโปรแมเนีย (ภาวะที่ผู้ป่วยมีอารมณ์ครึกครื้นเกินกว่าปกติ แต่ยังไม่รุนแรงเท่าภาวะแมเนีย)
          ภาวะแมเนีย (ภาวะที่ผู้ป่วยมีอารมณ์สนุกสนานครื้นเครงมากผิดปกติ มีกำลังวังชาเพิ่มขึ้น ความต้องการนอนลดลง ความคิดแล่นเร็ว มีความคิดแปลกใหม่มากมาย และมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นเกินปกติ จนทำให้เสียหน้าที่การงาน จัดว่าเป็นกลุ่มอาการสำคัญในโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคอารมณ์สองขั้ว)
          โรคความผิดปกติทางอารมณ์ ที่มีอาการทางจิตร่วม ซึ่งอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคอารมณ์แปรปรวน ที่มีอาการรุนแรง หรือมีอาการทางจิต เช่น หลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน ร่วมด้วย
          นอกจากนี้ ยังได้สำรวจ ความผิดปกติ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด โรคจิต โรคสมองเสื่อม ภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ในผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 4,120 ราย
          จากกลุ่มตัวอย่าง 4,120 คน พบว่า 530 คน มีปัญหาสุขภาพจิต ในจำนวนนี้ 65 คน เคยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ว่า ป่วยทางจิตเวช 62 คน เคยได้รับการตรวจและรักษาโรคทางจิตเวช 40 คน ได้รับยาไปกินแต่กินไม่ต่อเนื่อง 30 คน ขาดการดูแลต่อที่บ้าน และ 13 คน ที่ได้รับการรักษา แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือดีขึ้นเล็กน้อย
          “จากการสำรวจในหลายพื้นที่ ทำให้เรารู้ว่า ทุกวันนี้คนไทยเป็นโรคจิตเวชกันเยอะ แต่ไม่รู้ตัว โรคเหล่านี้รักษาได้ถ้าได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง”
          เขาบอกว่า จึงกลายเป็นอีกช่องว่างของสังคมไทย ที่ต้องตระหนัก จึงอยากให้โรงพยาบาลประจำตำบล หรือบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข เช่น อสม. มีส่วนช่วยเข้าไปช่วยเหลือด้วยการคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้น ให้ความรู้แก่คนในชุมชน รวมทั้งช่วยนำผู้ป่วยไปรับการรักษาอย่างทันท่วงที
          “พวกที่ติดเหล้าจนเป็นโรคจิตเวช เสียการเสียงาน ไม่สามารถใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติได้ คนกลุ่มนี้รักษาได้ หรือกรณีผู้ที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เช่น สอบตก หรืออกหัก แล้วคิดฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน แต่ไม่รู้ตัว เพราะเมื่อเทียบกับคนปกติที่สอบตกหรืออกหัก แล้วไม่คิดฆ่าตัวตาย ยังมีอยู่อีกมหาศาล”
          หมอยศชี้ว่า ทุกวันนี้สังคมไทยมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือจิตเภทแปลกๆ เช่น ปล่อยให้เนื้อตัวมอมแมม และไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เที่ยวขุดคุ้ยหาของกินตามถังขยะ หรือมีอาการคุ้มดีคุ้มร้าย เดินถ่มน้ำลายใส่คนอื่นเป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้ถูกครอบครัวและสังคมละเลยจึงไม่ได้รับการรักษา
          คุณหมอฯ ยกตัวอย่าง คนทั่วไป 55% มักเข้าใจผิดว่า ผู้ป่วยโรคจิต จะไม่ฆ่าตัวตาย เมื่อเขาไม่คิดมาก อีก 37% เข้าใจว่า ผู้ที่เคยฆ่าตัวตายมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ จะไม่ทำซ้ำ และ 30% เข้าใจผิดคิดว่า ผู้ที่ติดเหล้าและสารเสพติดอย่างหนักเป็นพวกที่ไม่น่าจะคิดฆ่าตัวตาย
          ในทางกลับกัน บทบาทหน้าที่รับผิดชอบของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) หรือผู้ที่เป็นแกนนำแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย พบว่า 34% ไม่เคยออกไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน โดยให้เหตุผลว่า ไม่พบผู้ป่วย
          อีก 44% ไม่เคยประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อนำความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตไปเผยแพร่ ไม่เคยค้นหา และป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่คิดฆ่าตัวตาย... 52% ไม่เคยทำกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วยสุขภาพจิต และ 91% ของ อสม.หรือแกนนำฯ ไม่เคยจัดทำทะเบียนประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เพื่อการติดตาม ที่เป็นปัจจุบันภายในชุมชนของตนเลย
          นอกจากนี้ อุปสรรคสำคัญในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ยังเกิดจากทัศนคติและความเชื่อผิดๆของทั้งคนทั่วไป โดย 64% เชื่อว่า ผู้ที่ตั้งใจฆ่าตัวตาย มักเป็นพวกที่เรียกร้องความสนใจ อีก 60% เห็นว่า การฆ่าตัวตาย เป็นการกระทำเพื่อหนีปัญหา และที่แย่กว่านั้น คือ อีก 77% เชื่อว่า การฆ่าตัวตาย ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล
          แม้แต่ผู้ซึ่งเป็น อสม.หรือแกนนำแก้ไขปัญหาฆ่าตัวตายเอง ถึง 68% เห็นว่า คนที่ฆ่าตัวตาย ทำไปเพื่อเรียกร้องความสนใจ 60% เห็นว่า คนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ มักจะไม่ตั้งใจทำและ 84% เชื่อว่า การฆ่าตัวตาย เป็นสิทธิส่วนบุคคล
          “อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุข เป็นผู้ที่มีความสำคัญ สามารถช่วยคัดกรองคนในชุมชนของตัวเองง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามเบื้องต้นแค่ 2 คำถามว่า ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมารวมวันนี้ด้วย คุณรู้สึกว่าตัวเอง เศร้า หดหู่ หรือท้อแท้สิ้นหวังบ้างหรือไม่ อีกคำถาม ให้ถามว่า ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมารวมวันนี้ คุณเคยรู้สึกเบื่อหน่าย หรือทำอะไรก็ไม่รู้สึกเพลิดเพลินเลยสักอย่างบ้างหรือไม่”
          “ถ้าได้รับคำตอบว่า ใช่ ทั้ง 2 ข้อ ให้สงสัยไว้ในเบื้องต้นก่อนเลยว่า ผู้นั้นอาจมีภาวะซึมเศร้า ควรรีบส่งต่อตัวไปให้เจ้าหน้าที่อนามัย หรือสาธารณสุขของแต่ละชุมชนทำการคัดกรองซ้ำให้แน่ชัดอีกครั้ง”
          “รวมความแล้ว ทุกวันนี้สังคมเราไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับโรค จิตเวช แถมกระทรวงสาธารณสุขเองก็ไม่ได้ทำตรงนี้ให้มากพอ สภาพวิกฤติของปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทยจึงไม่ต่างกับภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ” นพ.ยศทิ้งท้าย.


pageview  1205475    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved