HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 26/12/2560 ]
วัยรุ่น3ล้านเสี่ยงฆ่าตัวตาย อธิบดีฯวิตกโลกป่วยหนัก โรคซึมเศร้า

 "สว.ฝ่ายแต่งตั้ง สำนักงานกำลังพล" ลั่นไกระเบิดหัวตัวเองดับอนาถคา       ห้องทำงาน  รองผบ.ตร.รุดตรวจที่เกิดเหตุพบ จดหมายลาตายเพราะทนความซึมเศร้าไม่ไหว วางอยู่บนโต๊ะทั้งที่เพิ่งได้เลื่อนยศเป็นพ.ต.ต. เพียงปีเศษ "จักรทิพย์" สั่งสอบสวนหาความจริงอย่าด่วนตัดประเด็นอื่นทิ้ง  พร้อมกำชับผู้บังคับบัญชาดูแลสวัสดิการให้ญาติอย่าขาดตกบกพร่อง อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยพบ 1 ใน 20 ของประชากรโลกกำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้าแต่ที่น่าวิตกคือวัยรุ่นไทยกว่า 3 ล้านคนเสี่ยงจะมีอาการจนถึงขั้นตัดสินใจฆ่าตัวตาย
          เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 24 ธ.ค. ร.ต.อ.นิคม อินอุ่นโชติ รอง สว.(สอบสวน) สน.ปทุมวันรับแจ้งเหตุมีผู้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเสียชีวิตภายในห้องทำงานสำนักงานกำลังพลอาคาร 5 ชั้น 7 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)แขวงและเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ จึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบก่อนรุดไปตรวจสอบพร้อมพล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผบ.ตร. พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ผู้ช่วยผบ.ตร. พ.ต.อ.ภพธร จิตต์หมั่น ผกก.สน.ปทุมวัน แพทย์นิติเวช รพ.ตำรวจ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และอาสามูลนิธิร่วมกตัญญู
          ที่เกิดเหตุพบศพ พ.ต.ต.สหัสวรรษ พันธ์เกตุ อายุ 30 ปี สว.ฝ่ายแต่งตั้งสำนักงานกำลังพล ช่วงเอวถึงหัวเข่านอนขวางอยู่บนเตียงพับศีรษะหล่นไปอยู่บนพื้นห้องมีบาดแผลกระสุนปืนเข้าทางขมับขวาทะลุออกฝั่งซ้ายจนเลือดไหลนองใกล้กันพบอาวุธปืนกล็อกขนาด 9 มม. ของ พ.ต.ต.สหัสวรรษ ตกอยู่ทางด้านซ้ายมือขณะที่มีปลอกกระสุน 1 ปลอกตกอยู่บนพื้นทางฝั่งขวาบนโต๊ะทำงานพบจดหมายลาตายเขียนด้วยลายมือระบุว่า "ขออโหสิกรรมให้ด้วยครับเพราะความซึมเศร้าจนเกินไป"  เจ้าหน้าที่จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐานก่อนนำศพส่งไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชรพ.ตำรวจ
          สอบสวนนางสมเพียร พุฒตาล อายุ  58 ปี แม่บ้านอาคารที่เกิดเหตุให้การว่าเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่เปิดตัวอาคารและทำความสะอาดอยู่นั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด รีบวิ่งขึ้นไปตรวจสอบก็พบศพ พ.ต.ต.สหัสวรรษอยู่ในสภาพดังกล่าวจึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบทันที เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานสาเหตุการฆ่าตัวตายเกิดจากความเครียดหรือมีปัญหาส่วนตัวอย่างไรก็ตามจะได้สอบปากคำพยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
          สำหรับพ.ต.ต.สหัสวรรษ พันธ์เกตุ หรือสารวัตรป๊อปนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 47 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 63 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้ารับราชการ เริ่มแรกตำแหน่งพนักงานสอบสวน สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี จากนั้นย้ายมาเป็นรอง สว.ฝ่ายแต่งตั้ง สำนักงานกำลังพล และเพิ่งขยับขึ้นเป็น สว.ในหน่วยงานเดียวกันเมื่อปี2559
          ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. กล่าวว่า คนใกล้ชิดให้การว่า พ.ต.ต. สหัสวรรษเป็นคนเฮฮาร่าเริงและไม่มีประวัติการรักษาอาการโรคซึมเศร้า คาดว่าน่าจะมีความ เครียดมาจากบางเรื่องจนตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง อย่างไรก็ตามคงต้องรอพนักงานสอบสวนร่วมกับแพทย์นิติเวชชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการตายและรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุจากกองพิสูจน์หลักฐานก่อนถึงจะสรุปสำนวนได้ดังนั้นในขณะนี้จึงยังไม่ตัดประเด็นอื่นทิ้งไป ส่วนทางด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ฝากแสดงความเสียใจไปยังญาติของพ.ต.ต.สหัสวรรษพร้อมกำชับให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ที่ต้องได้รับอย่าให้ขาดตกบกพร่องเด็ดขาด
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังเจ้าหน้าที่นำศพพ.ต.ต.สหัสวรรษส่งชันสูตรที่สถาบันนิติเวชรพ.ตำรวจ แพทย์ได้ผ่าตัดเก็บชิ้นส่วนอวัยวะต้องสงสัยไว้ตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิต  ก่อนญาติจะมารับศพนำกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบำเพ็ญใต้เขตมีนบุรี กทม.เป็นเวลา 5 วัน
          พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า จากการตรวจสอบประวัติของพ.ต.ต. สหัสวรรษ พบว่าเป็นตำรวจน้ำดี และยังถือเป็นนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 63 คนแรกของรุ่นที่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น สว. ส่วนสาเหตุของการตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อความในจดหมายน่าจะมาจากอาการป่วยโรคซึมเศร้าไม่น่าจะมาจากสาเหตุความขัดแย้งทางด้านครอบ ครัว หรือขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ขณะที่สาเหตุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นเป็นไปได้ว่าน่าจะมาจากความเครียดจากการทำงานเนื่องจากเป็นคนที่จริงจังมุ่งมั่นจนถึงขั้นไม่ค่อยได้กลับบ้านรวมไปถึงความเครียดสะสมจากการที่เคยปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ไม่มีใครทราบว่า พ.ต.ต.สหัสวรรษ มีอาการโรคซึมเศร้า เนื่องจากก่อนเกิดเหตุ 2 วันยังเดินทางไปทานอาหารกับครอบครัวเหมือนปกติ
          "อาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่มีความเครียดความกดดันในการปฏิบัติหน้าที่ค่อนข้างสูงซึ่งก่อนที่จะเข้ารับราชการตำรวจจะมีการตรวจคัดกรองอย่างละเอียดเกี่ยวกับโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตามจากข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตำรวจที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นในช่วงหลังจากเข้ารับราชการแล้ว ซึ่งในส่วนของแนวทางป้องกันก็ได้บรรจุกิจกรรมเข้าวัดฝึกสมาธิ ผ่อนคลายจิตใจเข้าไปอยู่ในหลักสูตรฝึกอบรมของทุก ๆ โครงการ ขณะที่มีข้อมูลคาดการว่าปัจจุบันมีตำรวจอยู่ในข่ายเสี่ยงป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 4,000 นาย" รอง ผบ.ตร. กล่าว
          วันเดียวกัน  น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า โรคซึมเศร้าเป็นภาวการณ์เจ็บป่วยที่ต้องเร่งรักษาเพราะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโดยองค์การอนามัยโลกระบุปัจจุบันพบ 1 ใน 20 ของประชากรโลกกำลังป่วยด้วยโรคดังกล่าวและป่วยซ้ำสูงร้อยละ50-70 ที่น่าเป็นห่วงเพราะเป็นต้นเหตุให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นขณะที่ในประเทศไทยพบวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงร้อยละ 44 หรือประมาณกว่า 3 ล้านคนจากจำนวนวัยรุ่นทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้ป่วยแล้วกว่า 1 ล้านคนแต่เข้าถึงบริการการรักษาน้อยเพราะอารมณ์และพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ป่วยจะไม่เหมือนผู้ใหญ่โดยวัยรุ่นจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวนง่าย หรือเสี่ยงใช้ยาเสพติด และอาจชอบแยกตัวไม่กล้าเข้าสังคมทำให้ผู้ปกครอง ครู เข้าใจผิดว่าเป็นนิสัยเกเร
          "อีกทั้งวัยรุ่นยังมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่ต้องการถูกระบุว่ามีปัญหาอาจจะปฏิเสธการรักษาทำให้วัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าจำนวนมากไม่ได้รับการช่วยเหลือและนำไปสู่ปัญหาอื่นที่รุนแรงขึ้นตามมา เช่น ฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น ติดยา และเรียนไม่จบ ดังนั้นกรมสุขภาพจิต จึงให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์พัฒนาแนวทางการดูแลรักษาวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศเพื่อให้วัยรุ่นที่มีปัญหาได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นอย่างทันท่วงที ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองใช้เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของวัยรุ่นและระบบบริการมากที่สุดคาดว่าจะพร้อมใช้ต้นเดือน ม.ค. 2561" น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว
          ขณะที่พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ผอ. สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ กล่าวว่าวัยรุ่นที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้ามี 4 กลุ่มใหญ่ 1.ผู้ที่มีประวัติเป็นคนในครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช เช่น เป็นโรคซึมเศร้าโรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรควิตกกังวล สมาธิสั้น 2.มีโรคเรื้อรังทางกาย เช่นโรคมะเร็ง โรคไตโรคที่ทำให้ร่างกายผิดรูปหรือมีผลต่อภาพลักษณ์3.ผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตสังคม เช่น อกหัก ใช้สารเสพติด ตั้งครรภ์ ปัญหาการเรียน โดนรังแก ใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้นและ 4.กลุ่มที่มีครอบครัวไม่อบอุ่น มีความขัดแย้งในครอบครัวรวมทั้งการเลี้ยงดูที่ขาดการสอนทักษะการจัดการอารมณ์ตนเอง
          "สำหรับแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้ามี4 ส่วนหลักได้แก่ 1.การคัดกรองซึมเศร้าซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาเครื่องมือและช่องทางที่เข้าถึงวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น 2.การตรวจวินิจฉัยทั้งร่างกายและสภาพจิตใจ 3.การรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัดกระตุ้นพฤติกรรม อารมณ์ความคิดทางบวก ซึ่งสามารถลดภาวะซึมเศร้าลงได้ภายใน 4สัปดาห์ และ4.ส่งเสริมให้โรงเรียนและครอบครัวมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหา" ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ ระบุ.


pageview  1204998    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved