HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 27/12/2560 ]
ลด...ขับเร็ว ลด....ตาย ปีใหม่เดินทางปลอดภัย

สัปดาห์นี้เป็นช่วงที่หลายคนเริ่มทยอยเดินทางออกต่างจังหวัดในช่วงหยุดยาว "เทศกาลปีใหม่" กันแล้ว สิ่งที่ต้องพูดย้ำกันเสมอในช่วงเทศกาลก็คือปัญหาอุบัติเหตุที่นำมาซึ่งความสูญเสียของชีวิตผู้คนและความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจจากคนเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย
          ทั้งนี้ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุจากการศึกษาทางวิชาการเป็นเรื่องของ คนถึง95 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ถนนและสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุอยู่ที่28 เปอร์เซ็นต์และปัจจัยเรื่องรถเป็นสาเหตุน้อยที่สุดที่8เปอร์เซ็นต์ ในเรื่องของคนโดยเฉพาะตัวผู้ขับขี่นั้นทุกฝ่ายต่างระดมรณรงค์มุ่งเน้นไปที่การกวดขันผู้ขับขี่ที่มึนเมาสุราขณะขับรถ แต่ในปัจจัยร่วมในการขับรถเส้นทางในระยะทางไกลนั้นยังมีเรื่องของการขับรถด้วยความเร็วและปัญหาของการง่วงหรือหลับในร่วมด้วย
          นพ.คำนวณอึ้งชูศักดิ์กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในการแถลงข่าว "ลดเร็วดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัยปีใหม่ 2561" ว่า "จากสถิติของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.)ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้เสียชีวิต 478 ราย เกิดอุบัติเหตุ 3,919 ครั้ง บาดเจ็บ 4,128 คน สาเหตุอันดับหนึ่งคือ เมาสุราร้อยละ 36.39 (ปี 2559 ร้อยละ 34.12) รองลงมาคือการขับรถเร็วร้อยละ 31.31 (ปี 2559 ร้อยละ 24.53) โดยได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการขับรถเร็วที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุซึ่งการขับรถเร็วนั้นมีผลให้เวลาในการตัดสินใจน้อยลงเมื่อเกิดเหตุคับขันต้องใช้ระยะทางในการชะลอหยุดรถมากขึ้น เช่น หากใช้ความเร็วที่50 กม./ชม.ต้องใช้ระยะทาง27 ม.ในการตัดสินใจและหยุดรถแต่หากใช้ความเร็วที่60 กม./ชม.จะต้องเพิ่มระยะทางเป็นเกือบ60 ม.ในการตัดสินใจเบรกและหยุดรถอีกทั้งการขับเร็วยังส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมองด้านหน้าลดลงด้วย"
          และจากข้อมูลของ มูลนิธิไทยโรดส์ สถิติอุบัติเหตุในประเทศไทยปี พ.ศ. 2556 ได้ระบุว่าความเร็วเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย (การใช้ความเร็วบนทางหลวง)คิดเป็นสัดส่วนถึง 77 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 64 เปอร์เซ็นต์จากอุบัติเหตุทั้งหมดและจากการเก็บข้อมูลวิเคราะห์พบว่า อุบัติเหตุในช่วงปี พ.ศ. 2551- 2556 อุบัติเหตุที่เกิดจากความเร็วมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงถึง136 เปอร์เซ็นต์จะเห็นได้ว่าความเร็วเริ่มปรากฏเป็นปัจจัยที่น่าจับตามองในสถิติการเกิดอุบัติเหตุของประเทศมากขึ้น
          สิ่งยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่มีการวิเคราะห์และพัฒนาแบบจำลองสถิติอุบัติเหตุพบว่า หากความเร็วเพิ่มขึ้น 2 เท่าโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ เช่น หากเพิ่มความเร็วจาก 40 กม./ชม.เป็น 80 กม./ชม. โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า แต่ความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บนั้นกลับเพิ่มขึ้นถึงยกกำลังสามและความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นยกกำลังสี่ คิดกันง่าย ๆ คือ จากความเร็ว 40 กม./ชม. หากขับเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 80 กม./ชม. โอกาสที่จะบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจะเพิ่มเป็น 8 เท่าและโอกาสที่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะเพิ่มเป็น 16 เท่า
          นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแม้จะเป็นบนทางด่วนทำไมให้ขับเร็วได้แค่ 80 กม. แม้จะมีการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายนี้ซึ่งเป็นการบังคับใช้ตามพ.ร.บ.จราจรทางบกที่ตราขึ้นมาตั้งแต่ปี 2522 แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขปรับให้ความเร็วสูงขึ้นเพราะอีกด้านหนึ่งก็ต้องพิจารณาถึงผลกระทบให้รอบคอบเช่นกันเพราะทุก ๆ ความเร่งที่กดลงไปหมายถึงความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้คนนั่นเอง
          ปัจจุบันในประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเร็วรถอยู่ 2 ฉบับคือ ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก และพ.ร.บ.ทางหลวงซึ่งถ้าเอาตามกฎหมายกรณีที่เราขับไปบนทางที่มีป้ายจำกัดความเร็วใช้ความเร็วได้ไม่เกินอัตราที่ป้ายระบุกรณีที่ไม่มีป้ายจำกัดความเร็วให้ใช้ความเร็วได้ในเขตเมือง60 กม./ชม.นอกเขตเมือง80 กม./ชม.ส่วนบนทางหลวงพิเศษหมายเลข7 (มอเตอร์เวย์)และทางหลวงพิเศษหมายเลข9 (ถนนกาญจนาภิเษก)ใช้ความเร็วได้120 กม./ชม. อย่างไรก็ตามนอกจากนี้การใช้ความเร็วของรถในอัตราที่เท่า ๆ กันในถนนจะเกิดอุบัติเหตุได้น้อยกว่ารถที่ใช้ความเร็วแตกต่างกันมาก
          ปีใหม่นี้เมื่อนั่งอยู่หลังพวงมาลัยในขณะที่ถนนโล่งก่อนกดคันเร่งเหลือบตามองหน้าปัดความเร็วสักนิดการขับรถเร็วเป็นสิ่งที่เรารู้และเตือนตัวเองได้เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดแต่สามารถป้องกันได้ช้าลงสักหน่อยแต่ถึงจุดหมายปลอดภัยชัวร์ดีกว่าไหม.


pageview  1204998    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved