HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 19/12/2560 ]
วัคซีนไข้เลือดออก

  รัฐบาลฟิลิปปินส์สั่งระงับและสอบสวนโครงการแจกจ่ายวัคซีนไข้เลือดออกมูลค่าหลายพันล้านเปโซ ทันทีที่ซาโนฟี ปาสเตอร์ บริษัทผู้ผลิตวัคซีน "เดงแว็กเซีย" (Dengvaxia) วัคซีนไข้เลือดออกตัวแรกของโลก เผยผลการศึกษาล่าสุดที่ชี้ว่า มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้รับวัคซีนที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน
          รายงานดังกล่าวเผยออกมาเมื่อเดือน  พ.ย. ซึ่งขณะนั้นโครงการของรัฐบาลฟิลิปปินส์มูลค่า 3,500 ล้านเปโซ (ราว 2,249 ล้านบาท) ได้ดำเนินมาร่วมปี และมีเด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไป ได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 830,000 คน
          ก่อนหน้านั้น ซาโนฟีเผยรายงานการทดลองทางคลินิกเมื่อปี 2558 ระบุว่า วัคซีน มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสเดงกี่ ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกซึ่งมี ยุงเป็นพาหะนำโรคและมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่ข้อมูลยังชี้ว่า ในปีที่ 3 ของการทดลอง ผู้รับวัคซีนที่เป็นเด็กอายุน้อยบางรายต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และแสดงอาการไข้เดงกี่ที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน
          มีการตั้งข้อสันนิษฐานไปใน 2 ทาง คือ อาจเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้วัคซีนถูกลดประสิทธิภาพ หรืออาจเป็นเพราะตัววัคซีนนั่นเองที่ทำให้ผู้รับวัคซีนเปราะบางต่อโรคที่รุนแรง ซึ่งรายงานล่าสุดชี้ว่าเป็นประเด็นหลัง
          หลังรายงานเบื้องต้นออกมาเมื่อปี 2558 ซาโนฟีและองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้ทำการศึกษาทบทวน และมีแนวทางเงื่อนไขการใช้วัคซีนออกมาเมื่อเดือน ก.ค. 2559 ระบุว่าควรใช้กับผู้ที่มีอายุ 9 ขวบขึ้นไป ในภูมิภาคที่มีการกระจายของโรคในอัตราสูง
          เดงแว็กเซีย เป็นวัคซีนต่อต้านไวรัส เดงกี่ตัวแรกของโลก ซึ่งซาโนฟีใช้เวลาในการพัฒนาร่วม 20 ปี และทุ่มทุนไปราว 1,500 ล้านยูโร (ราว 57,358 ล้านบาท) มีการอนุมัติให้ใช้วัคซีนนี้ใน 19 ประเทศ และมีการปล่อยออกสู่ตลาดแล้วใน 11 ประเทศ โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกที่มีการใช้ในวงกว้างในโครงการแจกจ่ายวัคซีนทั่วประเทศ อีกประเทศที่มีการใช้อย่างกว้างขวางคือบราซิล ซึ่งทั้งสองแห่งยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตอันเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน ขณะที่บริษัทยืนยันว่าผู้ที่ปรากฏอาการป่วยในการทดลองทางคลินิกล้วนหายเป็นปกติแล้ว
          มีการตั้งข้อสังเกตว่า ซาโนฟีและดับเบิลยูเอชโอควรรับรู้ถึงความเสี่ยงในข้อนี้ก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยในการทดลองทางคลินิกของซาโนฟีนั้น ไม่มีการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของกลุ่มตัวอย่างก่อนรับวัคซีน ซึ่งการตรวจเลือดหลังจากนั้นจะทำให้ระบุได้ยากว่า แอนตีบอดีที่ปรากฏนั้นมาจากการได้รับวัคซีนเดงแว็กเซีย หรือเป็นผลมาจากที่ร่างกายได้รับเชื้อเดงกี่ก่อนหน้านี้
          ซาโนฟีชี้แจงกับรอยเตอร์ว่า การเก็บตัวอย่างเลือดจากกลุ่มตัวอย่างผู้รับวัคซีนในการทดลองโดยไม่มีเหตุอันควรนั้น อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ "ขัดต่อจริยธรรม" และ การทดลองนี้ซึ่งได้รับการตรวจสอบชี้แนะจาก ผู้เชี่ยวชาญรอบด้าน ไม่ได้มีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่อิทธิพลที่อาจเกิดจากปัจจัยการติดเชื้อก่อนหน้าการรับวัคซีน
          สกอตต์ ฮัลสเตด ผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าเรื่องไวรัสเดงกี่ เคยนำเสนอไว้เมื่อราวสี่สิบปี ที่แล้ว เรื่องภาวะการส่งเสริมโดยอาศัยแอนตี บอดี หรือเอดีอี (ADE: antibody-dependent enhancement) กล่าวคือ แอนตีบอดีที่เกิดหลังได้รับเชื้อครั้งแรก ซึ่งเป็นไวรัสเดงกี่ 1 ใน 4 สายพันธุ์ เป็นตัวที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อเดงกี่รุนแรง เมื่อบุคคลนั้นได้รับเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ด้วยเชื้อต่างสายพันธุ์
          ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้การพัฒนา วัคซีนเดงกี่เป็นเรื่องซับซ้อน เพราะแทนที่จะทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกัน แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยรับเชื้อมาก่อน การรับวัคซีนเปรียบเสมือนการติดเชื้อครั้งแรก ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงในครั้งที่ 2 ซึ่งฮัลสเตดระบุว่า เขาพยายามเขียนเตือนถึงประเด็นนี้ลงในวารสารทางการแพทย์จำนวนมาก หลังมีรายงานฉบับแรกของซาโนฟีออกมา แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับ ซึ่งวาคิม ฮอมบัค เจ้าหน้าที่ระดับสูงของดับเบิลยูเอชโอชี้แจงว่า ข้อมูลที่จะนำไปสู่การดำเนินการใด ๆ ขององค์กรนั้น ต้องเป็นข้อมูลที่เกิดจากงานวิจัย
          ข้อมูลจากดับเบิลยูเอชโอระบุว่า ปัจจุบันพบการระบาดของเชื้อไวรัสเดงกี่ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 9 ประเทศ เมื่อช่วงก่อนปี 2513 ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลราว 500,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตราว 12,500 ราย.


pageview  1204987    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved