HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 06/09/2560 ]
ก.สาธารณสุขประกาศใช้พ.ร.บ.นมผง คุ้มครองทารก-เด็กเล็ก...ดีเดย์8ก.ย.นี้

 "นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของทารก มีสารอาหารมาก กว่า 200 ชนิด ช่วยการเจริญเติบโตมีภูมิคุ้มกันโรค การโอบกอดของแม่ขณะให้นมลูก ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ และการสร้างสายใยผูกผันระหว่างแม่ลูก เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มทารกและเด็กเล็กได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. นมผง เพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก มีผลบังคับใช้  8 กันยายน 2560 นี้"
          เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าว "พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560" ว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้ออกพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.นมผง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยา ยน 2560 นี้ เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ประกาศใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มทารกและเด็กเล็กโดยควบคุมการส่งเสริมการตลาด ผ่านสื่อโฆษณาและวิธีการลดแลกแจกแถม ของผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือผลิตภัณฑ์นมผงให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ บรรลุเป้าหมายเด็กทั่วโลกอย่างน้อยร้อยละ 50 ได้รับนมแม่อย่างเหมาะสม ตามหลักที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ หรือ "1-6-2" คือกินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น
          ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่าสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อ้างอิงจากหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast- milk Substitutes)หรือโค้ดนม ซึ่งเป็นข้อแนะนำสากลที่ตกลงกันระหว่างนานาประเทศในเวทีสมัชชาอนามัยโลกเมื่อปี  2524 ซึ่งไทยได้นำโค้ดนมมาใช้โดยขอความร่วมมือแบบสมัครใจจากภาคธุรกิจ เพื่อควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 และปรับปรุงเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2551 แต่ยังพบการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดอย่างไม่เหมาะสมอยู่ จึงผลักดันให้มี พ.ร.บ.นมผงฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะนี้กรมอนามัยได้จัดระบบและมอบหมายบุคลากรให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการละเมิดและฝ่าฝืนกฎหมายและสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลการสำรวจในปี 2558 พบว่าเด็กไทยอายุต่ำกว่า 6 เดือนร้อยละ 23 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวและแม่ที่สามารถให้นมลูกได้ถึง 2 ปี มีเพียงร้อยละ 16
          สำหรับการขับเคลื่อนเพื่อให้เด็กไทยได้กินนมแม่อย่างเหมาะสม มีมาตรการสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การส่งเสริม กระตุ้นช่วยเหลือให้แม่มีความพร้อมและตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2. การสนับสนุน โดยจัดบริการคลินิกนมแม่ในโรงพยาบาล การเยี่ยมบ้านหลังคลอด สนับสนุนการจัดมุมนมแม่ในสถานที่ทำงาน เป็นต้น และ 3. การปกป้อง โดยคุ้มครองแม่และครอบครัวจากการได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง หรือชวนเชื่อให้ใช้อาหารอื่นทดแทนในช่วงที่ยังควรได้รับนมแม่ ที่สำคัญคือการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก เล็กให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยกฎหมายฉบับนี้จะช่วยเพิ่มระดับการปกป้องได้มากขึ้น ทั้งนี้ องค์ การอนามัยโลกประเมินว่า หากแม่ได้รับการดูแลทั้งการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้อง จะมีโอกาสให้นมแม่สำเร็จได้เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า
          นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันการโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กยังไม่มีการห้าม อาจมีบางบริษัทฯที่มีการเชื่อมโยงทำให้เข้าใจว่านมผงสำหรับทารกเป็นอาหารสำหรับทารกที่ส่งผลกระทบกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะมีการพิจารณาว่าเป็นการโฆษณาที่เจตนาจะละเมิดกฎหมายนี้หรือไม่ ส่วนการกำหนดฉลากของอาหารสำหรับเด็กเล็กและทารกก็ต้องมีประกาศออกมาให้เชื่อมโยงกันทั้งระบบ ซึ่ง อย.จะทำหน้าที่พิจารณาเรื่องคุณสมบัติและส่วนประกอบของอาหารเป็นไปตาม พ.ร.บ.อาหาร ว่ามีการโฆษณาสารอาหารเกินจริงหรือไม่ ส่วนฉลากที่คล้ายกันจนแยกไม่ออกนั้น ตาม พ.ร.บ.จะให้เวลาในการปรับเปลี่ยน 1 ปีหากเกินจะมีโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท
          ดร.แดเนียล เอ. เคอร์แทสซ์ ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กซึ่งจะบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยายนนี้ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยในการคุ้มครองสุขภาพและพัฒนาการของเด็กไทย ประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมกับอีก 135 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายในการปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
          นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายนี้จะช่วยปกป้องสิทธิของครอบครัวในการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องอาหารของลูก นี่ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับเด็กในประเทศไทย และการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต"
          แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีบทบาทในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปกป้องหญิงตั้งครรภ์และแม่หลังคลอดให้รู้เท่าทันถึงกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด การโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กต่าง ๆ โดยผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม จดหมายข่าว นิตยสารแชมเปี้ยนนมแม่ และชุดความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์และแม่หลังคลอด ได้รับการปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนจากทุกฝ่าย สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ ได้ร่วมกับกรมอนามัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขยายเครือข่ายมุมนมแม่ในสถานประกอบการ ขณะนี้ทั่วประเทศมีมุมนมแม่ 1,004 แห่ง องค์กรต้นแบบ 16 แห่ง และศูนย์เรียนรู้ 5 แห่งที่เป็นเครือข่ายที่มีนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เอื้อเฟื้อการจัดตั้งมุมนมแม่ และมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบีบเก็บน้ำนมของแม่ทำงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่แม่ให้นมลูกได้สำเร็จ.


pageview  1205017    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved