HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 29/06/2560 ]
เชียงรายเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากในโรงเรียน

  นายนพรัตน์ อู่ทอง ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ได้รับข้อมูลเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก จากสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขว่า ในปี 2559 มีผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ทั้งประเทศรวม 79,910 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 122.14 ต่อแสนประชากร มีผู้ป่วยเสียชีวิต 3 ราย สำหรับจังหวัดเชียงราย พบผู้ป่วย 287.89 ต่อแสนประชากร เป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ ในขณะที่ปี 2560  ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 17,117 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ในขณะที่จังหวัดเชียงรายมีข้อมูลผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก 45.14 ต่อแสนประชากร โดยในช่วงฤดูฝนของทุกปี (พฤษภาคม-สิงหาคม) จะเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงสุดของโรคมือ เท้า ปาก สถานศึกษาเป็นสถานที่มีเด็กเข้ามาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นสถานที่แพร่กระจายของโรคเป็นอย่างดี
          ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย กล่าวอีกว่า ดังนั้น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลควรมีการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการต่าง ๆ เช่น การตรวจคัดกรองเด็กทุกเช้า การแยกเด็กป่วย การทำความสะอาดห้องเรียน ที่นอน อุปกรณ์เครื่องใช้ และของเล่นอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะสามารถป้องกันควบคุมโรค ลดการป่วย และ การเสียชีวิตของเด็กในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกทั้งยังเป็นการสร้างเสริมสุขภาพเด็กให้แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมในการพัฒนาการเรียนรู้อย่างมีศักยภาพ
          นายนพรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย จึงขอให้โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง ได้ร่วมกันเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นโรคที่พบเฉพาะในคน และติดต่อจากคนสู่คน โดยให้โรงเรียนดำเนินการป้องกันการเกิดโรคด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงห้องน้ำ ห้องส้วม อาคารสถานที่ต่าง ๆ การจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ของเด็ก แยกเป็นรายบุคคล ไม่ให้ใช้ปะปนกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดมือ การเผยแพร่ให้คำแนะนำความรู้โรคมือ เท้า ปาก แก่ผู้ปกครองและนักเรียน รวมทั้งให้ผู้ปกครองช่วยสังเกตอาการเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ ตลอดจนการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร ภายหลังการขับถ่าย หรือสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็ก ทั้งนี้ หากพบเด็กนักเรียนมีอาการป่วย มีไข้ หรือมีผื่นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ให้แยกเด็กป่วยอยู่ห้องพยาบาล โดยทั่วไปอาการโรคมือ เท้า ปากจะไม่รุนแรงและสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 7-10 วัน แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ให้รีบนำเด็กพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนในพื้นที่ทันที.


pageview  1205008    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved