HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 20/06/2560 ]
เตือนช่วงฝนช่วงร้อน 'ระวังไข้หูดับ' หนวกถาวร..ถึงตาย!

 "ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงเดือน เม.ย. 2560มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้จำนวน 60 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวแล้ว 3 ราย ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อโรคจากการกินแบบดิบ ๆ"...เป็น สถานการณ์โรค เป็นตัวเลขที่ทาง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยไว้ เกี่ยวกับโรคที่หลาย ๆ คนอาจไม่คุ้นหู หรือก็คุ้น ๆ แต่อาจยังละเลยต่อการเสี่ยงกับโรคนี้ อีกหนึ่งโรคที่มีสาเหตุจากการกินอาหารแบบไม่ถูกสุขลักษณะ กินอาหารที่มี "หมูดิบ" เป็นส่วนประกอบ...
          โรคที่ว่านี้คือโรคที่มีชื่อไทย ๆ ว่า 'โรคไข้หูดับ"
          สถานการณ์โรคนี้ล่าสุด ยังมีข้อมูลจากทางการออกมาอีกว่า...กลุ่มอายุผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มากที่สุดคือ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือช่วง 45-54 ปี และ 55-64 ปีตามลำดับ โดยภาคเหนือมีผู้ป่วยมากที่สุดรองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการกินอาหารที่มีหมูดิบเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ "เชื้อโรคไข้หูดับ" เข้าสู่ร่างกาย โดยเชื้อโรคนี้ก็จัดว่า'ร้ายแรง"...
          สามารถทำให้ผู้ป่วย 'หูหนวกถาวร".
          และยังอาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วย 'เสียชีวิต"
          "โรคไข้หูดับ" นี้ ทุกปีก็จะมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขย้ำเตือนถึง "อันตราย" โดยเฉพาะ "ฤดูร้อน-ฤดูฝน" ซึ่งเป็นช่วงที่มักมีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเกี่ยวกับโรคนี้ก็มีข้อมูลในเว็บไซต์ haamor.comโดย นพ.วิรัช ทุ่งวชิรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก ที่ได้อธิบายถึงโรคดังกล่าวนี้เอาไว้ว่า...ไข้หูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis)เป็น โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic infectious disease) จากสุกรหรือหมูสู่คน ยังไม่เคยมีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน
          ทั้งนี้ โรคไข้หูดับเป็นโรคที่พบได้ประปรายทั่วโลก แต่มักจะพบในประเทศที่มีการเลี้ยงหมูเป็นอุตสาหกรรม และในปี 2548 เคยพบว่ามีการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศจีน จนมีผู้ติดเชื้อโรคนี้ประมาณ 100 คน โดยในการระบาดครั้งนั้นก็ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วย "โรคไข้หูดับ" ไปมากกว่า 20 คน โดยโรคดังกล่าวนี้สามารถจะป่วยได้ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่ทั้งนี้ ที่ผ่าน ๆ มาเกือบทั้งหมดมักจะพบในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเพศชายจะพบสูงกว่าในเพศหญิง ส่วน ในประเทศไทยนั้น เคยมีรายงานโรคนี้ครั้งแรกในผู้ป่วย 2 คน ในปี 2530 จากนั้นเป็นต้นมาก็มีรายงานการพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มาเรื่อย ๆ ทุกปี
          การติดต่อจากหมูสู่คนเกิดได้อย่างไร? มีข้อมูลขยายความว่า...อาจเกิดได้จากการสัมผัสหมูที่มีเชื้อโรคหรือจากการกินอาหารที่มีหมูดิบ ๆ ไม่ผ่านการปรุงสุก ที่มีเชื้อโรคนี้อยู่ โดยที่ผ่านมาผู้ที่ติดเชื้อโรคนี้ส่วนใหญ่มักมีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู หรือทำงานในโรงชำแหละหมู โดยไม่มีการป้องกันความเสี่ยงที่ดีพอ รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบเมนูอาหารที่มีหมูดิบ
          "อาการของโรค" เมื่อมีการติดเชื้อดังกล่าวนี้ เชื้อจะมีระยะฟักตัวในร่างกายโดยใช้เวลาไม่นาน ส่วนมากน้อยกว่า 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง และอาจมีอาการจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตหรือมีภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงมีอาการอุจจาระร่วงและท้องเสียประกอบ โดยเมื่อมีอาการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง จะทำให้เยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ นอกจากนั้น ยังอาจมีอาการเวียนศีรษะและทรงตัวไม่ได้ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยจากการได้รับเชื้อโรคนี้...
          ที่สำคัญมักมีอาการประสาทหูอักเสบจนหูดับ
          จนนำไปสู่อาการ.'หูหนวกถาวรทั้งสองข้าง"
          ไข้หูดับมีอาการอยู่ได้นานเท่าไหร่? ประเด็นนี้นั้น พบว่า...การติดเชื้อไข้หูดับทำให้มีอาการอยู่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ แต่อาการบางอาการก็จะไม่หายไปแม้จะรักษาโรคจนหายแล้วก็ตาม เช่น หูดับ โดยเมื่อเกิดอาการหูดับแล้ว จะไม่สามารถทำอะไรได้ และไม่มีวิธีรักษาที่จะทำให้หูกลับมาได้ยินเหมือนเดิม สิ่งที่ทำได้คือ รับการรักษาที่ถูกต้องก่อนเกิดอาการหูดับ ซึ่งอาจจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงเกิดหูดับได้บ้าง โดยการวินิจฉัยโรคนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษาจะวินิจฉัยจากประวัติอาการ ประวัติการสัมผัสหมู การกินหมู การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานของโรคนี้ และการเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งเช่น เสมหะ และเลือด
          อย่างไรก็ตาม ก็มี "คำแนะนำ" ว่า...เมื่อมีอาการเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะเมื่อมีไข้สูงและมีประวัติสัมผัสหมู หรือกินหมูสุก ๆ ดิบ ๆ ในระยะเวลาประมาณ 3 วันก่อนเกิดอาการเพื่อที่จะรักษาได้ทัน เพราะหากรอช้าผู้ป่วยอาจมีอาการคอแข็งเกร็ง หรือหมดสติจากอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบได้ โดยการรักษานั้น ทางแพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเพนนิซิลลิน (Penicillin) หรือยาเซฟไตร อะโซน (Ceftriaxone) เข้าทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย หรือในผู้ป่วยรายที่แพ้ตัวยาดังกล่าว แพทย์ก็อาจจะใช้ยาแวนโคมัยซิน (Van comycin) เพื่อทำการรักษา
          แล้วจะ "ป้องกัน" ได้อย่างไร? กับเรื่องนี้ก็มีคำแนะนำว่า...สำหรับผู้ที่ทำอาชีพทำงานเกี่ยวกับหมู ควรป้องกันโดยสวมรองเท้าบู๊ต ถุงมือ เสื้อผ้าที่รัดกุม ทุกครั้งหรือทุกขั้นตอน และควรล้างมือ ล้างเท้า ล้างตัวให้สะอาดหลังการสัมผัสหมูหรือเนื้อหมู และยิ่งหากร่างกายมีแผลอยู่ยิ่งต้องระวังในการสัมผัสหมู ส่วนคนทั่วไปก็ไม่ควรกินอาหารที่มีเนื้อหมูที่ดิบ ๆ หรือไม่สุกดี
          ทั้งนี้ มาถึงบรรทัดนี้ก็ต้องบอกว่า อุตสาหกรรมหมูในไทยส่วนใหญ่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ทั้งกับการเลี้ยงหมู และเนื้อหมูที่มีการขาย แต่กระนั้น ทั้งผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้อง และคนทั่วไป ก็ไม่ควรประมาทเชื้อโรคดังกล่าวนี้
          เกี่ยวข้องกับหมู กินหมู ก็อย่าได้ตื่นตระหนก
          แต่ 'ไข้หูดับ" โรคชื่อแปลกโรคนี้ก็ 'มีในไทย"
          ระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย...เป็นดีที่สุด!!.


pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved