HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 21/06/2560 ]
'ปวดหลัง'อย่าปล่อย'เรื้อรัง'!

 อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพใกล้ตัว บั่นทอนการดำเนินชีวิต "ปวดหลัง" อาการที่หนุ่มสาววัยทำงาน หรือเมื่อเริ่มมีอายุเพิ่มขึ้นมักเผชิญ!
          การดูแลสุขภาพป้องกันตนเอง ก่อนต้องเผชิญกับปัญหาปวดหลัง  ผศ.ดร.เกษร สำเภาทอง อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ สาเหตุอันดับต้น ๆ มักเป็นเรื่องของความเสื่อมถอย ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติ ทั้งนี้แม้จะดูแลร่างกายดีอย่างไรแล้ว ก็ยังพบว่ามีความเสื่อมของอวัยวะในระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หู ตา กระดูก หรือแม้แต่เอ็น ข้อต่อ ฯลฯ
          "ปวดหลัง แม้จะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนหนึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความเสื่อมถอยของอวัยวะในร่างกาย จะเห็นว่าอาการปวดหลังของ หนุ่มสาววัยทำงาน อาจเกิดขึ้นจากท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่น การยืนนาน ๆ ก้มยกของ นั่งนาน จดจ่ออยู่กับการทำงานหน้าคอมพิว เตอร์ทั้งวัน นั่งในท่าที่ไม่ถูกต้องฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ทั้งสิ้น
          ขณะที่ ผู้สูงอายุ จากการศึกษาสำรวจ ในกลุ่มนี้พบอาการปวดหลัง รบกวน เป็นอุปสรรค สร้างปัญหาในการดำเนินชีวิตอยู่มาก สาเหตุอาการปวดที่เกิดขึ้นมักเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อและเอ็น รวมถึงเส้นประสาท โดยเฉพาะที่กระดูกสันหลัง หากมีความเสื่อม มีอาการปวดรุนแรง อาจลุกลามไปถึงความพิการได้"
          แต่ไม่ว่าอาการปวดหลังจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด ไม่ควรมองข้าม ควรเข้าถึงการรักษานับแต่เนิ่น ๆ...
          ขณะที่อาการปวดหลังเป็นอุปสรรค บั่นทอนสุขภาพและการดำเนินชีวิต เพื่อหลีกไกลหรือก่อนต้องเผชิญกับความทรมานจากการปวดหลัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คำแนะนำเพิ่มอีกว่า การป้องกันผศ.ดร.เกษร สำเภาทอง  นับแต่เบื้องต้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เริ่มได้นับแต่ การออกกำลังกาย บริหารร่างกาย โดยเมื่อพูดถึงสิ่งนี้ ก็ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้สูงอายุ แต่ควรมีขึ้นกับ ทุกวัย!
          "การเตรียมความพร้อมให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง เพื่อป้องกันการปวดหลัง ต้องบริหารกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหลังโดยส่วนนี้มีความสำคัญ ขณะที่อีกหนึ่งการป้องกันที่ต้องไม่มองข้ามคือ ท่าทางในชีวิตประจำวันของเราโดยเฉพาะท่าทางที่เกี่ยวกับการทำงาน อย่างเช่น การนั่ง การยืน ไม่ควรนั่งหลังค่อมหรือยืนนาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบท ทั้งนี้เพราะท่าทางเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้"
          ฝึกบุคลิกภาพที่ดี เตรียมความพร้อมไว้นับแต่วัย หนุ่มสาว เพราะหากจะปรับเปลี่ยนเมื่อสูงอายุ ก็อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบาก ยิ่งมีภาวะหลังค่อม โค้งงอ หรือกระดูกโค้งผิดรูปร่าง ก็อาจปรับเปลี่ยนได้ยาก อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อก็มีความสำคัญ ฯลฯ
          แต่อย่างไรก็ตาม การรู้ถึงสาเหตุของอาการปวดหลังที่แท้จริง เป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้การแก้ไขที่ต้นทาง แก้ไขที่ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง ท่ายืนที่ไม่ถูกต้อง กล้ามเนื้อหลังไม่แข็งแรง หรือ กระดูกสันหลังเสื่อม ฯลฯ ส่งผลดีต่อการรักษาทั้งสิ้น
          อาหาร ก็มีความสำคัญ ผศ.ดร.เกษร ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า ในทุกวัยควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานอาหารที่มีความหลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยผู้สูงอายุควรทานอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอ และไม่มีไขมันสูง อีกทั้งควรเสริมด้วยอาหารที่มีแคลเซียม นอกจากได้จากปลา ยังได้จาก พืชผักใบเขียว ซึ่งมีพร้อมทั้งวิตามิน และเกลือแร่ นอกจากนี้การทานผักและผลไม้ยังช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่มีกากใย ส่งผลดีต่อการขับถ่าย เป็นต้น
          ก่อนต้องเผชิญกับอาการปวดหลัง หรือการเจ็บป่วย ใด ๆ "การป้องกัน" นับแต่เบื้องต้นมีความสำคัญ ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากไม่ทำให้เสียเวลา สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปกับการรักษาแล้ว ยังไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย มีสุขภาพดีดั่งที่ว่า "ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ".


pageview  1204954    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved