HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 19/05/2560 ]
สธ.ตรวจพบยาแผนปัจจุบันในอาหาร เตือน!ผู้บริโภคคิดให้ดีก่อนการเลือกซื้อ

  ปัจจุบันปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในหลาย ๆ เรื่อง เช่น โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปัญหาโรคอ้วน ปัญหานอนไม่หลับ ปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ฯลฯ ได้กลายเป็นช่องว่างให้ผู้ประกอบการบางรายที่เห็นแก่ได้ปลอมปนยาแผนปัจจุบันหลายกลุ่มและหลายชนิดในอาหารเนื่องจากมีความนิยมมาก อย่างเช่น กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่มบางชนิด เช่น โกโก้ผง เครื่องดื่มผงผสมคอลลาเจน เครื่องดื่มคลอโรฟิลล์ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น โดยมีการอวดอ้างหรือโฆษณาสรรพคุณว่ามีฤทธิ์เสริมสมรรถภาพทางเพศบ้าง บางชนิดมีฤทธิ์เป็นยาที่ช่วยให้เบื่ออาหารให้อยากอาหารน้อยลง กินเป็นยาลดความอ้วนบ้าง ส่งผลให้ผู้บริโภคที่หลงเชื่อซื้อไปใช้ ได้รับอันตรายต่อสุขภาพ บางรายรุนแรงมากจนถึงขั้นเสียชีวิต
          นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ระหว่างปี พ.ศ.2556-2559 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และหน่วยงานต่าง ๆ ในการเฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร จำนวน 6 กลุ่ม 14 ชนิดตัวยา ได้แก่ 1. กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ซิลเดนาฟิล, ทาดาลาฟิล และวาร์ เดนาฟิล) 2. กลุ่มยาลดความอ้วน (เอฟีดรีน, ออลิสแตท, เฟนเทอร์มีน และไซบูทรามีน) 3. กลุ่มยาลดความอยากอาหาร (เฟนฟลูรามีน) 4. กลุ่มยาระบาย (ฟีนอล์ฟทาลีน) 5. กลุ่มยาสเตียรอยด์ (เดกซาเมธาโซน และเพรดนิโซโลน) 6. กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ (อัลปราโซแลม, ไดอะซีแพม และ ลอราซีแพม) ในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง
          ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ยังคงตรวจพบการปนปลอมของยาแผนปัจจุบันเหล่านี้ ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาที่พบทั้งชนิดเดียวและพบร่วมกัน 2 ชนิด โดยยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น มีอาการหัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก หัวใจเต้นผิดปกติ เลือดออกในสมองหรือปอด ความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตเฉียบพลัน ไซบูทรามีนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก ส่วนออลิสแตทอาจส่งผลให้ เกิดอาการข้างเคียง เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ไม่สามารถกลั้นอุจจาระและขาดสารอาหาร เป็นต้น
          ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพที่เหมาะสมควรทำด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์  ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร งดหวาน มัน เค็ม นอกจากนี้อาหารที่มีการปนปลอม ยาแผนปัจจุบันจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้บริโภคสนใจจะใช้อาหารเสริมดังกล่าว  จำเป็นต้องมีความรู้และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้  มีคำรับรองจาก อย. และไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการตรวจวิเคราะห์กาแฟสำเร็จรูปชนิดผงโดยละเอียด  จำนวน 462 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 130 ตัวอย่าง พบซิลเดนาฟิล 33 ตัวอย่าง  ทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 26.2) กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 344 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 13.7)  กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ ตรวจวิเคราะห์ 183 ตัวอย่าง พบลอราซีแพม 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.5) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  จำนวน 1,034 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 287 ตัวอย่าง พบซิลเดนาฟิล 86 ตัวอย่าง ทาดาลาฟิล 6 ตัวอย่าง ซิลเดนาฟิลร่วมกับทาดาลาฟิล 24 ตัวอย่าง และซิลเดนาฟิลร่วมกับวาร์เดนาฟิล 7 ตัวอย่าง รวม 123 ตัวอย่าง  (ร้อยละ 42.9) กลุ่มยาลดความอ้วนตรวจวิเคราะห์ 187 ตัวอย่าง พบออลิสแตท 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11.8) และตรวจวิเคราะห์  849 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 163 ตัวอย่าง (ร้อยละ 19.2) กลุ่มยาลดความอยากอาหาร ตรวจวิเคราะห์ 245 ตัวอย่าง พบเฟนฟลูรามี  1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.4) กลุ่มยาระบาย พบฟีนอล์ฟทาลีน 1 จาก  245 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.4) กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 103 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 1.9) และมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจพบว่า มียาแผนปัจจุบัน 2 กลุ่ม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ไซบูทรามีนร่วมกับทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง และไซบูทรามีนร่วมกับฟีนอล์ฟทาลีน 2 ตัวอย่าง และยากลุ่มเดียวกัน 2 ชนิด ได้แก่ไซบูทรามีนร่วมกับออลิสแตท 3 ตัวอย่าง  เครื่องดื่ม (เครื่องดื่มอื่นนอกเหนือจากกาแฟ ชา ชาสมุนไพร ตามพระราชบัญญัติอาหาร) เช่น โกโก้ผง เครื่องดื่มผงผสมคอลลาเจน เครื่องดื่มคลอโรฟิลล์ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น จำนวน 66 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 41 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.6) และอาหารอื่น ๆ ได้แก่ ชาสมุนไพร ข้าวกล้องงอก และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น สารให้กลิ่นรส น้ำตาลมอลโตส สารโคคิวเท็น เป็นต้น จำนวน 41 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 9 ตัวอย่าง พบออลิสแตท 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11.1).


pageview  1205008    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved