HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 04/05/2560 ]
เฟซบุ๊กไลฟ์อันตรายที่อยู่ใกล้ตัว แนะปชช.เลือกใช้อย่าง 'สร้างสรรค์'

 กระแส "เฟซบุ๊กไลฟ์" หรือ"การถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก" ในปัจจุบันนี้ ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากด้วยความใหม่ของเทคโนโลยีและการเข้าถึงของเครือข่ายได้ง่าย หลายคนใช้ เฟซบุ๊กไลฟ์ถ่ายทอดชีวิตประจำวันของตัวเอง ศิลปินดาราใช้เพื่อรายงานความคืบหน้าให้แฟนคลับได้ติดตาม บางคนใช้เพื่อความทันสมัยให้ดูเหมือนกับคนอื่น ๆ ในสังคม แต่จะใช้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ควรเลือกใช้เฟซบุ๊กไลฟ์อย่างสร้างสรรค์ ถูกต้องและเหมาะสม อย่างกรณี การถ่ายทอดสดการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย หากผู้รับชมสามารถแยกแยะได้ว่าผู้ที่ทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายผ่านสื่อนั้น อาจมีปัญหาซับซ้อนอยู่เบื้องหลังอีกมากมาย ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่เขานำเสนอผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ก็อาจลดผลกระทบต่อตนเองได้  เพราะจริง ๆ แล้วคนที่ทำร้ายตัวเองอาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท หรือยาเสพติด แต่ถ้าผู้รับชมเป็นเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอย่อมทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่าย
          "ที่สำคัญโอกาสการทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายเลียนแบบจะสูงขึ้นมาก หากผู้ที่รับชมสื่อนั้นมีพื้นฐานชีวิต ลักษณะการใช้ชีวิต เชื้อชาติ อายุ ใกล้เคียงกับผู้ที่ทำร้ายตัวเองในสื่อ ที่สำคัญการที่รับชมแบบถ่าย ทอดสดจะยิ่งสมจริงมากขึ้นกว่าการรับชมจากสื่อรูปแบบอื่น ผลกระทบย่อมมากขึ้นตามมาด้วย"
          นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงพฤติกรรมเลียนแบบ (copy cat) การไลฟ์สดทำร้ายตัวเอง ว่า พฤติกรรมเลียนแบบในกรณีการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ แต่มีการศึกษาพบว่า บุคคลที่เปราะบาง ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหามากอยู่แล้วจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ที่จะมีโอกาสเลียนแบบได้สูง เพราะอยู่ในสภาวะจิตใจที่ขาดความมั่นคง ซึ่งสื่อหลักและสื่อสังคมจะมีส่วนช่วยได้มากด้วยการระมัดระวังในการนำเสนอข่าวหรือการส่งต่อ เนื่องจากเราเลือกไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ซึ่งหากผู้ที่เปราะบางอยู่แล้วรับข่าวสารนี้ ย่อมเกิดผลกระทบได้มาก การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน จึงขอเน้นว่า อย่าพาดหัวใหญ่ หรืออ้างเหตุผลเดียวง่าย ๆ ตลอดจนต้องให้ความรู้และแหล่งให้ความช่วยเหลือ/บริการด้วย เช่นเดียวกับสื่อโซเชียล ก็ไม่ควรส่งต่อเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากผู้ที่มีความเปราะบางทางจิตใจมาพบเห็น อาจจะด่วนสรุปว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกของปัญหา เกิดผลไม่ดีตามมาเช่นเดียวกัน สิ่งที่ควรทำ คือ ขออย่าเพิกเฉยหรือนิ่งนอนใจ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะด้วยเหตุผลการประชดประชัน หรือเรียกร้องความสนใจใด ๆ ก็ตาม ให้ใช้ความทันสมัยและความรวดเร็วของสื่อสังคมในการช่วยเหลือผู้ ก่อเหตุ พูดคุยประวิงเวลา ให้ฉุกคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ตามมา ตลอดจนรีบติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินให้เข้าไปแทรกแซงสถานการณ์
          อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันแต่ต้นทาง โดยใช้หลัก 3 ส เพื่อช่วยให้กลุ่มเสี่ยงได้เข้าสู่ระบบบริการก่อนที่จะมาเป็นปัญหาในการไลฟ์สด ได้แก่ 1. สอดส่องมองหาผู้ใกล้ชิดที่มีสัญญาณของการฆ่าตัวตาย คือ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ที่มีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย และผู้ที่แสดงถึงความต้องการฆ่าตัวตาย  2. ใส่ใจรับฟังคนรอบข้างที่มีความเสี่ยง อย่าคิดว่าพวกเขาไม่ทำจริง เมื่อคุยแล้วจะทำให้รู้ถึงความรุนแรงของปัญหาของพวกเขา และ 3. ส่งต่อเชื่อมโยงให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตช่วยดูแล หากการพูดคุยเจรจากับผู้มีความเสี่ยงไม่ได้ผล
          สำหรับผลกระทบกับเด็กที่ตกอยู่ในเหตุการณ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  กล่าวว่า เด็กที่อยู่ในเหตุการณ์รุนแรงทุกชนิด ไม่ว่าจะด้วยการเห็นหรือเป็นผู้ถูกกระทำ ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้น ตั้งแต่การประเมินจิตใจ การประเมินสภาวะครอบครัวเพื่อหาทางดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ เมื่อสภาวะครอบครัวมีความรุนแรงสูง เด็กจะมีปัญหาได้ทั้งทางอารมณ์และพฤติกรรม อารมณ์ส่วนใหญ่จะแสดงออกมาในรูปแบบความวิตกกังวล หรือซึมเศร้า ส่วนพฤติกรรมมักจะเป็นแบบแยกตัว หรือก้าวร้าวรุนแรง ผู้ใกล้ชิด เช่น ญาติ/ครู จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะสังเกตและช่วยเหลือพวกเขา ด้วยหลัก 3 ส
          อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะนำว่าผู้ ที่ทำร้ายตนเองมักจะมีสาเหตุที่ซับซ้อน โดย ส่วนใหญ่มักจะไม่เกิดจากปัญหาง่าย ๆ และมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า อาจจะมีปัญหาทางอารมณ์ในการควบคุมตัวเอง การดื่มสุรา หรือมีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาด้าน หนี้สิน เป็นต้น ทั้งนี้หลายเหตุการณ์ของการทำร้ายตนเองที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว เป็นปัญหาของการสื่อสาร จึงควรหาเวลาสงบ ๆ พูดกัน อย่าหาทางออกด้วยการทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่น เมื่อมีอารมณ์ทางลบ ขุ่นมัวหรือโกรธเคืองใด ๆ ขอให้บอกหรือแชร์ความรู้สึกของตนเองต่อความสัมพันธ์นั้นมากกว่าพูดถึงพฤติกรรมอีกฝ่าย ควรใช้ภาษา "ฉัน" แทน ภาษา "แก" เช่น ฉันกังวลที่เงินเราไม่พอใช้ มากกว่าทำไมเธอใช้เงินเปลือง ทั้งนี้ ถ้าพูดคุยกันแล้วยังไม่เข้าใจ ควรให้ญาติที่นับถือ หรือผู้ใหญ่ในชุมชน พระ/ผู้นำศาสนา ช่วยให้ข้อคิด ตลอดจนขอรับบริการด้านสุขภาพจิต ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 รพ.ชุมชน รพ.จังหวัด และ รพ.จิตเวชทุกแห่งทั่วประเทศ.


pageview  1205066    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved