HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 12/02/2555 ]
รักจริงรอได้เพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องใหญ่

         กระแสวันแห่งความรักถูกทอล์กออฟเดอะทาวน์ในหลากมิติ ดูเหมือนว่ามิติเรื่องเซ็กซ์และความรักของวัยรุ่นจะถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ผู้ใหญ่ต่างจับจ้องว่าวัยรุ่นจะถือฤกษ์งามยามดีวันวาเลนไทน์มีเพศสัมพันธ์ จากความเข้าใจข้างต้น ทำให้ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นว่าหากต้องการให้สื่อและประชาชนทั่วไป ได้รับรู้และเข้าใจในความคิดของวัยรุ่น จึงได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นที่มีต่อเพศสัมพันธ์ภายใต้หัวข้อ "รักจริงรอได้" โดยสำรวจกลุ่มวัยรุ่น 2,428 คน จากทุกภูมิภาคของประเทศ

          พบว่าวัยรุ่นไทยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มองว่า "เรื่องความรักเป็นเรื่องใหญ่" แต่ไม่คิดว่าเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญในชีวิต พบว่าวัยรุ่นที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่อบอุ่น จะให้ความสำคัญกับเรื่องความรักถึง 4 ใน 5 แสดงให้เห็นว่าสถาบันครอบครัวมีผลต่อกระบวนการคิดของวัยรุ่น และพบว่าลูกผู้ชายที่อยู่กับพ่อมีแนวโน้มสูงที่จะมองเรื่องเพศสัมพันธ์กับความรักเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันเสียงสะท้อนของวัยรุ่นร้อยละ 59 ต้องการขอคำปรึกษาจากพ่อแม่เป็นหลักในเรื่องของเพศ
          ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศสสส. กล่าวว่า ผู้ใหญ่ไปให้ความสำคัญว่าวันวาเลนไทน์เป็นวันที่เด็กจะต้องเสียตัวเพราะเป็นความหวาดกลัวของผู้ใหญ่เองว่าเด็กจะมีเพศสัมพันธ์กัน รวมทั้งสื่อไปชี้นำมีผลโพลระบุทำให้สังคมคล้อยตาม กลายเป็นวิธีการสร้างกรอบความคิด แต่แท้จริงแล้วเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องลับแต่เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ พ่อแม่ต้องเปิดใจคุยกับลูกซึ่งเด็กในแต่ละวัยต้องการความรู้ระดับขั้นของเรื่องเพศต่างกัน
          "ต้องยอมรับว่าสื่อการเรียนรู้เรื่องเพศในสังคมมีน้อยมาก รุ่นพ่อแม่เรียนรู้เรื่องเพศจากหนังสือโป๊ แต่สมัยนี้มีสื่อมากขึ้นแต่ไม่สามารถสื่อเรื่องเพศ ได้อย่างถูกต้อง"
          ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวต่อว่า เด็กสมัยนี้อยู่ในระบบการเรียนที่ค่อนข้างยาวนานกว่าจะแต่งงาน ให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อเรื่องเพศยาวนานขึ้น ทั้งปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะวัยรุ่นปัจจุบันขาดที่ปรึกษาในเรื่องเพศสัมพันธ์ สสส.จึงได้พัฒนาช่องทางให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์กับวัยรุ่นหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ www.talkaboutsex.thaihealth.or.th เว็บไซต์ www.dek-d.com.com/truelove วัยรุ่นสามารถเข้าไปทำแบบสอบถามในหัวข้อ "เมื่อรักเรียกร้อง ต้องสำรวจความพร้อม" สายด่วนวัยรุ่น 1323 กรมสุขภาพจิต และพิพิธภัณฑ์เซ็กซ์ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) และสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยพ่อแม่ให้เรียนรู้ถึงการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะทางเพศ ได้ด้วยตนเอง โดยติดต่อขอรับฟรีได้ที่ โทร. 09-0563-8394 ถึง 96
          เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน กล่าวว่า วิธีสื่อสารเรื่องเพศของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กควรเป็นเรื่องบวก และเปิดเผย ถ้าใช้คำว่าอย่าห้ามจะกลายเป็นสร้างความกลัวให้กับเด็ก จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ว่าคล้อยตาม ขณะเดียวกันเรื่องเพศที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ทั้งละคร เพลง ต่าง ๆ สร้างค่านิยมไม่ถูกต้อง เช่น พระเอกในละครตบตีนางเอกนำไปล่ามโซ่เกาะร้างแต่นางเอกเลือกพระเอกเพราะหล่อขณะที่พระรองทำดีสารพัดแต่ไม่ถูกเลือกเพราะหล่อน้อยกว่า เด็กดูแล้วสับสนแยกแยะไม่ได้ ดังนั้น การพูดเรื่องเพศกับลูกของพ่อแม่ต้องรู้เท่าทันสื่อด้วย
          ฐาณิชา ลิ้มพานิช ตัวแทนจากมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ตั้งข้อสังเกตกับผลของโพลในประเด็นที่ว่า ครอบครัวอบอุ่นนั้นไม่ใช่เป็นแค่กรอบว่า คำว่าครอบครัวต้องพรั่งพร้อมไปด้วยพ่อแม่ลูกจึงอบอุ่น แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวการทำกิจกรรมร่วมกันต่างหาก เพราะมีตัวอย่างของพ่อแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวเลี้ยงลูกได้ดีกว่าด้วยซ้ำ
          ฉัตรชัย เชื้อรามัญ ตัวแทนเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เทศกาลวันวาเลนไทน์ไม่ใช่เรื่องน่าห่วง เพราะเป็นกลางวันแต่มีเทศกาลกลางคืนที่น่ากังวลยิ่งกว่านี้ แม้เรื่องเพศจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับวัยรุ่น แต่พวกเขาแยกได้ระหว่างความรักกับเพศสัมพันธ์ ผู้ใหญ่ควรฟังเสียงวัยรุ่นและนำเสนอวิธีคิดในเชิงบวกให้กับวัยรุ่น มากกว่าสำรวจโพลออกมาชี้เป้า ควรสื่อข้อมูลในการศึกษาเรื่องสุขภาวะทางเพศอย่างถูกต้อง อย่างครบวงจร เริ่มจากที่บ้าน โรงเรียน กลุ่มเพื่อน จะนำมาถึงความเข้าใจในสิทธิมนุษย์บทบาทชายหญิง ตลอดจนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนได้
          วาเลนไทน์ปีนี้มีเสียงสะท้อนจากวัยรุ่นออกมาส่วนหนึ่งแล้วว่าไม่ต้องการเสียตัวอย่างที่สังคมกำลังจับจ้อง...โปรดมองเขาอย่างเข้าใจ.

pageview  1205105    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved