HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 12/04/2555 ]
ชุ่มฉ่ำฉลองสงกรานต์ สร้างรอยยิ้มผู้สูงอายุ

 "ทุกเทศกาลสงกรานต์หลายคนพากันกลับภูมิลำเนาเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ ทำบุญตักบาตร รดน้ำ ดำหัว สรงน้ำพระ ฯลฯ โดยนอกจากกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันแล้ว การกลับไปสอบถามสารทุกข์สุกดิบชีวิตความเป็นอยู่ของปู่ ย่า ตา ยายบ่อยครั้งก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาด้านสุขภาพมากมายทำให้บั่นทอนความสุขในบั้นปลายของชีวิต"
          วันสงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของไทยที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ มีความเกี่ยวโยงกับครอบครัวทำให้ทุกเทศกาลสงกรานต์หลายคนพากันกลับภูมิลำเนาเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ ทำบุญตักบาตร รดน้ำ ดำหัว สรงน้ำพระ ฯลฯ โดยนอกจากกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันแล้ว การกลับไปสอบถามสารทุกข์สุกดิบชีวิตความเป็นอยู่ของปู่ ย่า ตา ยายบ่อยครั้งก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาด้านสุขภาพมากมายทำให้บั่นทอนความสุขในบั้นปลายของชีวิต
          ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์นอกจากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยแล้ว ยังถือเป็นวันสำคัญของคนไทยอีกนั่นคือ วันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันครอบครัว ซึ่งวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นวันสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และกำหนดนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา สังคมวัฒนธรรม ความมั่นคงทางรายได้ การทำงานและสวัสดิการสังคม นอกจากนี้ยังให้มีการจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุทุกปี อาทิ การกราบขอพรและการมอบของขวัญให้แก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น
          ส่วน วันครอบครัวจะตรงกับวันที่ 14 เมษายนของทุกปี โดยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรีซึ่งมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปีเป็นวันครอบครัว เพราะต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ทุกเทศกาลสงกรานต์จึงเป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสพบเจอกันเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ สานสัมพันธ์อันดี วันสงกรานต์จึงถือเป็นประเพณีที่งดงามและเต็มเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศความกตัญญูกตเวที หลายคนจึงหาโอกาสกลับบ้านไปหาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เพื่อรดน้ำขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ ถือเป็นความงดงามที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นประเพณีไทยได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากประเพณีที่ดีงามนี้แล้ว การกลับไปพบปะพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือผู้สูงอายุที่เคารพรักเป็นประจำเพื่อสอบถามถึงสารทุกข์สุกดิบอาจเป็นอีกหนึ่งหนทางสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุให้ห่างไกลจากปัญหาด้านสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีความสุขพร้อมให้เรากลับไปกราบไหว้ท่านในทุกเทศกาลสงกรานต์ได้
          ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุมีมากมายหลายเรื่อง แต่เราจะค่อย ๆ เริ่มดูแลทีละเรื่อง ซึ่งความต้องการเร่งด่วนของผู้สูงอายุ คือเรื่องการใส่ฟันเทียม (ฟันปลอม) เพื่อเคี้ยวอาหาร เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีปัญหาการสูญเสียฟันทั้งปากค่อนข้างเยอะ ประมาณ 300,000 คน และเป็นปัญหาที่ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ได้ เมื่อกินอาหารไม่ได้ ก็ไม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ จึงนำไปสู่ "โครงการฟันเทียมพระราชทาน"
          โครงการฟันเทียมพระราชทาน เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2548 จากความต้องการของผู้สูงอายุที่ต้องการใส่ฟันทั้งปากเพื่อการเคี้ยวอาหาร ประกอบกับ ศ.(พิเศษ)ทพญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้นำกระแสพระราชดำรัสและความห่วงใยประชาชนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเผยแพร่ ความว่า 'เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง" กรมอนามัยร่วมกับหน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ คณะทันตแพทยศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัยและหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ จึงได้ร่วมมือกันจัดบริการใส่ฟันทั้งปากให้ผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านในโอกาสมหามงคลวาระต่าง ๆ จนถึงปัจจุบันสามารถใส่ฟันเทียมทั้งปากให้กับผู้สูงอายุได้ประมาณ 230,000 กว่ารายแล้ว ถือว่าแก้ปัญหาเร่งด่วนของผู้สูงอายุไปได้มากทีเดียว
          หลังจากจบโครงการระยะที่ 1 ซึ่งดำเนินการระหว่างปี 2548-2550 เฉลิมพระเกียรติฯ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ได้ติดตามผลการใส่ฟันเทียมให้ผู้สูงอายุ พบว่าร้อยละ 97 พอใจกับฟันเทียมชุดที่ได้รับไป ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น พูดจาได้ชัดขึ้น พอใจกับความสวยงาม มีความมั่นใจที่จะเข้าสังคมมากขึ้น ผู้สูงอายุรู้สึกมีความสุข ถือเป็นเรื่องของจิตใจ ไม่เช่นนั้นจะต้องอยู่แต่ในบ้าน การได้เข้าสังคมทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อน ๆ ทำให้มีความสุขเสริมพลังของชีวิตมากขึ้น
          แต่เมื่อใส่ฟันให้ผู้สูงอายุไประยะหนึ่งได้ย้อนกลับมามองอีกมุมหนึ่งว่า การที่จะปล่อยให้ผู้สูงอายุถอนฟันไปเรื่อย ๆ จนหมด แล้วใส่ฟันถือว่าไม่ถูกต้อง ควรจะต้องลดการสูญเสียฟันไปพร้อม ๆ กัน จึงสนับสนุนให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตัวเอง เพื่อคงสภาพที่ดีในช่องปากไว้ ซึ่งในปัจจุบันผู้สูงอายุมีการรวมกลุ่มกันเป็นชมรมอยู่แล้ว ถ้ามีแกนนำที่มีจิตอาสาแล้วพัฒนาศักยภาพให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องการดูแลอนามัยช่องปากตนเองก็น่าที่จะมาเป็นกำลังสำคัญช่วยกันดูแลสุขภาพช่องปากของสมาชิกชมรมได้ จึงเป็นที่มาของการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปากและบริการป้องกันเพื่อลดการสูญเสียฟัน ปรับโครงการเป็น "โครงการฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ" โดยคงเป้าหมายหลักเพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียฟันในกลุ่มผู้สูงอายุ สนองกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยนับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โครงการฟันเทียมพระราชทานฯ ได้สร้างต้นแบบชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก 1,728 ชมรม ครอบคลุม 1 อำเภอ 1 ชมรม ใน 46 จังหวัด กระจายอยู่ทุกภาค รวมทั้งพัฒนาหน่วยบริการในการจัดบริการป้องกันก่อนที่จะสูญเสียฟัน 219 แห่ง และยังคงพัฒนาทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
          อย่างไรก็ตามปี 2555 กรมอนามัยยังมีโครงการที่จะพัฒนาศักยภาพแกนนำชมรมผู้สูงอายุรวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยจัดประชุม 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลาง ซึ่งภาคเหนือได้จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม 2555 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคอีสานจัดที่จังหวัดขอนแก่นในวันที่ 19-20 เมษายน 2555 ส่วนภาคใต้จัดที่จังหวัดตรังในวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2555 และภาคกลางจัดที่จังหวัดชลบุรีในวันที่ 6-7 มิถุนายน 2555 โดยการประสานกิจกรรมให้ผู้สูงอายุและบุคลากรภาครัฐในพื้นที่ได้ร่วมกันดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ติดต่อปรึกษากันยามที่ต้องการการสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและด้านบริหารจัดการ โดยคาดหวังว่าปี 2555 นี้จะมีชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเพิ่มขึ้น 250 ชมรม จากปัจจุบันมีอยู่ 1,728 ชมรม และจะพยายามทำให้ได้ 1 อำเภอ 1 ชมรม ทั่วประเทศรวมทั้งมีหน่วยบริการจัดบริการป้องกันโรคในช่องปากเพิ่มขึ้นอีก 100 แห่ง
          ในสภาพสังคมปัจจุบันแม้ลูกหลานจะมีภาระหน้าที่ในการทำงานเลี้ยงครอบครัว แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดสำหรับพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คือกำลังใจและความห่วงใยจากลูกหลานที่ท่านเฝ้ารอคอย สงกรานต์ปีนี้อย่ากลับไปหาท่านเพียงครั้งเดียวหรือเพียงเพราะเทศกาลเท่านั้น ขอให้ไปเยี่ยมเยียนท่านบ่อย ๆ เพื่อเสริมสร้างความสุข เติมรอยยิ้มของท่านให้เต็มเปี่ยม และสนับสนุนให้ท่านสูงวัยอย่างมีคุณค่าตลอดไป สวัสดีปีใหม่ไทย.
          วิธีดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุอย่างง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
          การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุใน เรื่องแรก คือการทำความสะอาดช่องปากด้วยตนเอง โดยการแปรงฟัน การใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟัน เช่น ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟัน การใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ เรื่องที่ 2 ผู้สูงอายุควรจะตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ หรือพบทันตแพทย์ปีละ 1 ครั้ง เรื่องที่ 3 คืออาหารที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะผู้สูงอายุมีปัญหาในเรื่องฟันสึก ผุ แตก บิ่น ร้าว จึงต้องลดอาหารหวานจัด เพราะจะทำให้ฟันผุ ลดอาหารเปรี้ยวจัด เพราะจะทำให้ฟันสึก และงดการเคี้ยวของแข็ง เพราะจะทำให้ฟันแตก บิ่น ร้าวได้ และ เรื่องที่ 4 สำหรับผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ต้องถอดฟันออกมาแช่น้ำทำความสะอาด ไม่ควรใส่นอน เพราะฟันปลอมจะกดทับบริเวณเหงือกทำให้เหงือกอักเสบและควรถอดมาล้างทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร


pageview  1204972    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved