HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 22/02/2555 ]
เชียงใหม่ชู'บ้านไร่กองขิง' เป็นต้นแบบด้านสุขภาพ เน้นภูมิปัญญาชาวบ้านยกระดับคุณภาพชุมชน
          สนั่น เข็มราช
          สุขภาพดี คือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เพื่อที่จะมีอายุที่ยืนยาว ทำให้หลายคนไขว่คว้าหาสุขภาพดี เป็นการใช้เงินใช้ทองซื้อ แม้กระทั่งเข้าโปรแกรมลดน้ำหนัก หรือซื้ออาหารลดน้ำหนักมารับประทาน การมีสุขภาพที่ดีต้องอาศัยตัวเองดูแลสุขภาพ ให้เวลากับตัวเองเพียงวันละ 1 ชั่วโมงในการออกกำลังกาย อีก 7 ชั่วโมงในการนอนหลับ และรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ
          ดังนั้นจึงเกิดเหตุผลว่าทำไมทุกคนต้องดูแลตัวเอง และทำให้หลายหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยหาวิธีการในการช่วยเหลือสุขภาพของประชาชน เหมือนที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สนับสนุนชุมชนต้นแบบที่สามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้
          นายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งเสริมและสนับสนุนด้านบริการสุขภาพเพื่อสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานและได้รับการคุ้มครองด้านบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง โดยส่งเสริมคนไทยตั้งแต่ระดับรากหญ้าให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถจัดการองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง
          โดยยกตัวอย่าง ชุมชนบ้านไร่กองขิง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะที่นี่มีจุดเด่นในเรื่องของความเข้มแข็งของชุมชนมีการส่งเสริม การรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ โดยการนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพและเยียวยาการเจ็บป่วยของคนในชุมชน เมื่อก่อนคนในชุมชนบ้านไร่กองขิงจะมีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บในอัตราที่สูง เช่น ความดัน เบาหวาน โรคเกาต์ และโรคกระเพาะอาหาร และต้องพึ่งสารเคมีในการรักษาเป็นหลัก แต่เพราะความเข้มแข็งของชุมชนที่ได้มีการร่วมคิดร่วมทำเพื่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพของตนเอง มีการจัดตั้ง จุดเรียนรู้การให้บริการเพื่อสุขภาพบ้านไร่กองขิง เช่น จุดเรียนรู้การแปรรูปสมุนไพรพื้นบ้าน จุดเรียนรู้การนวดแผนไทย จุดเรียนรู้การใช้ตู้อบสมุนไพร จุดเรียนรู้การประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ จุดเรียนรู้การใช้ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ จุดเรียนรู้การใช้เครื่องออกกำลังกายร่วมสมัย ฯลฯ
          รวมทั้ง "ศูนย์บริการสุขภาพบ้านไร่กองขิง" ที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นเพื่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะ "การย่ำข่าง" ภูมิปัญญาแบบล้านนาทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นการนวดรักษาอาการปวดเมื่อยแบบดั้งเดิมด้วยการใช้เท้าและความร้อน สามารถนวดรักษาโรคได้ผลดีไม่แพ้นวดแบบอื่น ซึ่งนับว่าเป็นภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป
          "กรณีของชุมชนบ้านไร่กองขิงนี้ ไม่ว่าจะเป็น อสม. เทศบาล อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแกนนำหมู่บ้าน ทั้งหมดล้วนเป็นผู้มีบทบาทในการทำงานร่วมกัน จึงสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมกับชุมชนของตนเอง นอกจากชุมชนบ้านไร่กองขิงได้รับความไว้วางใจให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบ และเป็นโรงเรียนนวัตกรรมด้านสุขภาพแล้ว ทาง สบส.จะเข้ามาช่วยในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการด้านสุขศึกษาและระบบสุขภาพของประชาชน รวมทั้งมาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพของ "ศูนย์บริการสุขภาพบ้านไร่กองขิง" ให้ถูกสุขลักษณะ ได้รับการพัฒนายกระดับคุณภาพและมีมาตรฐานตามข้อกำหนดในการจัดตั้งสถานบริการด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามกระบวนการทางสาธารณสุขต่อไป" อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าว
          ด้าน สงวน บัวอ่อน "พ่อหมอเมือง" หนึ่งเดียวในชุมชนบ้านไร่กองขิงที่สืบทอดการรักษาอาการปวดด้วยวิธีย่ำข่างเล่าถึงการรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านแบบล้านนาว่า การย่ำข่าง มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เป็นการนวดรักษาอาการปวดตามร่างกายแบบล้านนาโบราณโดยใช้เท้า ความร้อนและสมุนไพร ข่าง คือ เหล็กหล่อชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบผาลไถที่ใช้สำหรับไถนา ขนาดประมาณ 8 x 6 นิ้ว ปลายแหลม ภาษาถิ่นล้านนาเรียกว่า ใบข่าง เชื่อกันว่า ข่าง มีความศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ไถนาปลูกข้าวเลี้ยงคนไทยทั่วทุกภาค ทั้งมีคุณสมบัติไม่เป็นสนิมง่ายและในตัวข่างมีแร่ธาตุบางชนิดที่เชื่อว่า เป็นตัวยาสามารถใช้รักษาโรคได้
          "ย่ำข่าง" เป็นวิธีการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดทางร่างกาย เป็นภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของชาวล้านนา วิธีการรักษา จะใช้เท้าชุบน้ำยา คือ สมุนไพรปูเลย หรือที่ภาคกลางเรียกว่า ไพล นำมาบดแล้วผสมกับน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม และน้ำมันงา แล้วย่ำบนข่างที่เผาไฟร้อนจนเป็นสีแดง จากนั้นจึงย่ำบนร่างกายของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด กดด้วยความร้อนใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 นาทีหรือแล้วแต่อาการของโรค โดยจะสามารถรักษาอาการปวดได้หลายโรค เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเอ็น ปวดข้อ ปวดกระดูก ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากความไม่สมดุลของธาตุ อาการชาที่มักเกิดที่มือ เท้า แขน ขา เอว ซึ่งเกิดจากเลือดลมในร่างกายไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เส้นเลือดตีบ รวมไปถึงอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งต้องใช้เวลานานในการรักษาตั้งแต่ 20 นาที ไปจนถึง 3 ชั่วโมง และต้องรักษาเป็นประจำ ซึ่งการรักษาแบบ "ย่ำข่าง"ได้รับความสนใจจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี
          ส่วนายสมศักดิ์ อินทะชัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.หนองควาย อ.หางดง กล่าวเสริมว่า การย่ำข่างเป็นการรักษาอาการปวดเมื่อยที่คนในชุมชนให้ความสนใจอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องกินยาแล้ว ยังประหยัดค่ารักษาด้วย ที่นี่มีหมอเมืองแค่คนเดียว วันหนึ่งนวดได้แค่ 2-3 คนเท่านั้น ซึ่งก็จะมาให้บริการทุกวัน การย่ำข่างนอกจากจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพของคนในชุมชนให้แข็งแรงและปราศจากการใช้สารเคมีแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์คนในชุมชน อีกทั้งยังส่งผลให้ชาวบ้านสุขภาพดี ทั้งร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ที่ศูนย์บริการสุขภาพบ้านไร่กองขิงยังให้บริการประคบสมุนไพร อบสมุนไพรรวมไปถึงการรับซื้อสมุนไพรของคนในชุมชน.
 
 
          นายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์
          นายสมศักดิ์ อินทะชัย

pageview  1205095    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved