HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 29/11/2556 ]
ปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศของชายไทย (3)
  นอกจากนี้ผลกระทบของการสูบบุหรี่ที่มีต่อสมรรถภาพทางเพศ พบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างระยะเวลาของการสูบบุหรี่และโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งรวมทั้งชายไทยที่ปัจจุบันยังคงสูบบุหรี่อยู่และชายไทยที่เคยมีประวัติสูบบุหรี่มาก่อนและได้หยุดแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่มานานมากกว่า 30 ปี
          ในแง่ของการป้องกันโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยทั่วไปแล้ววิธีที่ดีสุดของการป้องกันโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศคือการใช้วิถีทางการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีให้ร่างกายแข็งแรง และรักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ ร่วมกับแพทย์ มีการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และการตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ เป็นประจำ หยุดการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และลดความเครียด
          สำหรับงานวิจัยในแง่ของความสัมพันธ์ของการป้องกันโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ พบว่าชายไทยที่มีโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศและได้รับการสัมภาษณ์จะปรึกษาคู่นอนเป็นอันดับแรกร้อยละ 38 อันดับสองคือ เก็บไว้กับผู้ป่วยเองร้อยละ 32 ปรึกษากับเพื่อนเป็นอันดับสามร้อยละ 21 ปรึกษาศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะร้อยละ 17 และปรึกษาแพทย์ทั่วไปร้อยละ 13
          ส่วนทางเลือกของการรักษาพบว่า ร้อยละ 76 ผู้ป่วยชายไทยเลือกการออกกำลังกายเป็นทางเลือกอันดับแรกในการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 17 จะ ใช้ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และร้อยละ 9 จะใช้สารกระตุ้นทางเพศเช่นแอลกอฮอล์
          อย่างไรก็ตามผู้ป่วยปรารถนาที่จะเลือกการรักษาด้วยการรับประทานยาร้อยละ 74 นอกจากนี้ผลงานวิจัยที่น่าสนใจคือ ชายไทยที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอมีอุบัติการณ์ของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศน้อยกว่าชายไทยที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศระดับรุนแรง แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
          สรุปได้ว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ส่งผลให้ชายไทยมีปัญหาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศประกอบด้วยการมีอายุมากขึ้น ปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่การศึกษา อาชีพ และรายได้ของชายไทย นอกจากนี้คือโรคประจำตัว พฤติกรรมที่ไม่ดีเช่นการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะระยะเวลาของการสูบ ชายไทยเลือกการออกกำลังกายเป็นการรักษาและป้องกันโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอันดับแรก.
          รศ.นท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศลคลินิกสุขภาพชาย หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

pageview  1205841    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved