HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 30/10/2556 ]
รู้ทันป้องกัน 'อัมพาต'

 

 ครบเครื่องเรื่องแคมปัส  คลิก อินไซด์แคมปัส dailynews online
          ตามที่องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันอัมพาตโลก" ย่อมบ่งบอกถึงนัยสำคัญของโรคนี้ จากการสำรวจประชากรโลกที่ป่วยอัมพาตพบว่า แต่ละปีจะมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15 คน และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 7.5 ล้านคน ต่อปี หากนับจำนวนผู้ป่วยในปัจจุบัน มีคนที่เป็นโรคนี้อยู่ราว 55 ล้านคน
          รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาท โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ส่วนของประเทศไทย พบผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยทุก ๆ 4 นาที จะมีผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาต  1 ราย ดังนั้นในแต่ละวันจึงมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากกว่า 360 คน หรือคิด เป็นอัตราส่วนประชากรไทยประมาณ 1 ใน 6 คน ที่มีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ และโดยทั่วไปโรคอัมพาตมักพบบ่อยในผู้สูงอายุ และผู้ที่ มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ (โดยเฉพาะผู้หญิงสูบบุหรี่มีโอกาสเป็นอัมพาตสูงกว่าผู้ชายสูบบุหรี่มาก) และผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ดังนั้นจึงถือเป็นโรคใกล้ตัวเราทุกคน อีกทั้งโรคอัมพาตจะส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วยและครอบครัวหรือคนใกล้ชิดด้วย
          "จากสถิติผู้ป่วยที่พบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คณะแพทยศาสตร์ มข. ให้ความสำคัญการจัดงานวันอัมพาตโลก ขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในชุมชนใกล้เคียงรู้จักและป้องกันการเกิดโรค ซึ่งตราบใดที่สาเหตุของโรคดังกล่าวมาแล้วนั้นยังคงมีอยู่ อัตราการป่วยเป็นโรคอัมพาตก็อาจเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นจำเป็น
          อย่างยิ่งที่ต้องให้ผู้ป่วยรู้ทันเพื่อป้องกันโรคได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันโรคอัมพาตสามารถหายได้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะเกิดจากการที่หลอดเลือดในสมอง อุดตันจากการเกิดลิ่มเลือดในสมอง ดังนั้น จะต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 270 นาที จะมีโอกาสหายเป็นปกติสูงมาก"
          น.ส.พัชราภรณ์ คล่องแคล่ว นักศึกษาชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ มข. กล่าวว่า หัวข้อเกี่ยวกับโรคอัมพาตจะอยู่ในชั้นเรียนตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีสุดท้ายเพราะเป็นเรื่องสำคัญ โดยตนมองว่าประเด็นสำคัญคือการให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป และแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ 1. ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท 2. แขน ขาข้างหนึ่งข้างใดอ่อนแรง 3. พูดลำบาก พูดไม่ชัด นึกคำพูดลำบาก โดยอาการเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วหรือเป็นขึ้นทันทีทันใดจะต้องรีบไป โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
          "นักศึกษาแพทยศาสตร์ มข. จึงได้ร่วมจัดกิจกรรมวันอัมพาตโลกทุกปี ด้วยการเดินรณรงค์พร้อมแจกเอกสารให้ความรู้กับประชาชนตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเมืองขอนแก่น รวมถึงมีกิจกรรมเผยแพร่หนังสั้นเกี่ยวกับอันตรายของโรค และตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้แก่ผู้เข้าร่วมงานเพื่อป้องกันสาเหตุการเกิดโรค ทั้งนี้มีข้อแนะนำง่าย ๆ สำหรับคนที่ไม่ต้องการเป็นโรคอัมพาต ประกอบด้วย "3 ต้อง 4 ไม่" ได้แก่ 1. ต้องตรวจสุขภาพประจำปี 2. ต้องรักษาโรคประจำตัวที่มีให้ดี 3. ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ และ 1. ไม่ดื่มเหล้า 2. ไม่สูบบุหรี่  3. ไม่เครียด  4. ไม่อ้วน เพียงเท่านี้ก็จะห่างไกลจากโรคร้ายได้แล้ว"
          อย่างที่บอกว่าโรคอัมพาตสามารถรักษาได้... ดังนั้นทุกโรงพยาบาลจะมีระบบการรักษาที่เรียกว่า "ทางด่วนโรคอัมพาตหรือ 270 นาทีชีวิต" ในกรณีที่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลเองได้ให้โทรฯเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินมารับที่สายด่วน 1669 หรือถ้าอยากทราบข้อมูลเพื่อการป้องกันและรักษา สอบถามเพิ่มเติมที่ คณะแพทยศาสตร์ มข.โทร. 08-1050-4626.

pageview  1205465    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved