HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 10/10/2556 ]
รับแคลเซียมให้เพียงพอต่ออายุกระดูก

  จากสถิติล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ผู้หญิงกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก กำลังทุกข์ทรมานจากการเป็นโรคกระดูกพรุน ภาวะที่กระดูกอ่อนแอ บางลงและหักง่าย ภาวะนี้ส่วนใหญ่เกิดจากกระดูกเสียแคลเซียมอย่างรวดเร็ว มักเกิดบ่อยในช่วงวัยหมดประจำเดือน จึงพบอัตราการเกิดกระดูกหักสูงขึ้นอย่างชัดเจนและสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในวัยที่เพิ่มขึ้น กระดูกพรุนเป็นอันตรายที่คุกคามคุณภาพชีวิตอย่างช้า ๆ และไม่มีสัญญาณเตือน ที่สำคัญภาวะกระดูกพรุนไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ วิธีดีที่สุดคือ "การป้องกัน" เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสุขภาพกระดูกให้แข็งแรง สถาบันสุขภาพ นิวทริไลท์ โดย นพ. สมบูรณ์ รุ่งพรชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยยุวัฒน์ แนะนำวิธีการต่อกรกับโรคดังกล่าวว่า วัยทำงานเป็นช่วงที่ผู้หญิงอาจเริ่มมีกระดูกบางลง แต่ยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก เนื่องจากเนื้อกระดูกตามวัยยังค่อนข้างหนา ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงยังไม่เห็นความสำคัญ แต่หากทิ้งไว้จะมีปัญหาได้ในที่สุด หากอยากใช้ชีวิตวัยเกษียณอายุอย่างมีความสุข ควรเริ่มดูแลกระดูกตั้งแต่ยังสาว เริ่มจากกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน เพื่อกระตุ้นให้กระดูกมีการซ่อมเสริมตัวเองให้แข็งแรงตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ไม่ควรกินโปรตีนมากเกินไป ถ้าไม่ดูแลแต่เนิ่น ๆ เตรียมตัวต้อนรับกระดูกพรุนตอนวัยทองได้เลย ซึ่งพบว่าผู้หญิงร้อยละ 30 ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนลดลงตามธรรมชาติ ผลก็คือร่างกายสูญเสียแคลเซียมได้ง่าย และรวดเร็วกว่าในช่วงวัยที่ผ่านมามาก
          วัยสูงอายุเป็นช่วงที่ความหนาแน่นของกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ นพ. สมบูรณ์ แนะนำวิธีป้องกันอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกหัก ควรกินอาหารที่มีแคลเซียม เช่น น้ำเต้าหู้ โยเกิร์ต หรือกินผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมทุกวัน, ออกกำลังกายที่เคลื่อนไหวช้า, หลีกเลี่ยง การวิ่ง เดิน ในพื้นที่ไม่เรียบ แสงไม่เพียงพอ, ควรวางที่กันลื่นหรือติดคานที่จับในห้องน้ำเพื่อป้องกันการล้ม หากมีปัญหาการเคลื่อนไหว ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อควรปรึกษาหมอหรือนักกายภาพบำบัดทันที, ตากแดดในช่วงเช้า 10-15 นาที รับวิตามินดี, งดนอนดึกและนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง เพราะกระดูกมีการซ่อมแซมตัวเองขณะที่เรานอนหลับ
          ด้าน ดร.คีธ แรน ดอล์ฟ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ สถาบันสุขภาพนิวทริไลท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือรับแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีสารอาหาร อื่น ๆ ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นคือ วิตามินดี ช่วยดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส, แมกนีเซียม เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แร่ธาตุอื่น ๆ ได้แก่ สังกะสี ทองแดง แมงกานีส เป็นองค์ประกอบช่วยเสริมการดูแลสุขภาพกระดูกด้วยเช่นกัน และรวมไปถึงสารสกัดเข้มข้นอัลฟัลฟา ที่นอกจากมีแร่ธาตุแล้ว ยังมีไฟโตนิวเทรียนท์หลายชนิดที่ให้ผลดีต่อเมทาบอลิซึมของสารอาหารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูกอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรหันมาเสริมแคลเซียมและสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพกระดูกตั้งแต่วัยเด็กหรือหนุ่มสาวในปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละช่วงวัยอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยชรา.


pageview  1205886    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved