HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 10/09/2556 ]
นวัตกรรมพลาสติกกับการแพทย์

  ปัจจุบันได้มีการนำ "พลาสติก" มาใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ มากมายไม่เว้นแม้แต่วงการแพทย์ ซึ่ง "เอสซีจี เคมิคอลส์" ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมพลาสติกของไทย ก็ได้ให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก
          หนึ่งในงานวิจัยและพัฒนาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือ "นวัตกรรมพลาสติกสำหรับวงการแพทย์"  โดยนายชลณัฐ  ญาณารณพ  กรรมการผู้จัดการใหญ่  เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ เล็งเห็นว่าวัสดุพลาสติกจะเป็นวัสดุทดแทนที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยนวัตกรรมพลาสติกของเอสซีจี เคมิคอลส์ ถือเป็นงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สามารถนำมาผลิตเป็น สินค้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ สร้างประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและสังคม ช่วยลดการนำเข้าเม็ดพลาสติกและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ ทำให้ผู้คนเข้าถึงการรักษาได้ทั่วถึงมากขึ้นในราคาที่ถูกลง และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้มากยิ่งขึ้น
          "เอสซีจี เคมิคอลส์ มีนโยบายเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างไม่หยุดยั้ง โดยจะเพิ่มการวิจัยและพัฒนาให้มากยิ่งขึ้นอีก เพื่อให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยปีที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาไปประมาณ 600 ล้านบาท"
          ทั้งนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์  ได้จัดงาน "พลาสติก ฟอร์ ไลฟ์ บาย เอสซีจี เคมิคอลส์" (Plastics for Life by SCG Chemicals) ซึ่งได้มีการแสดงนวัตกรรมพลาสติกสำหรับวงการแพทย์ ซึ่งผลงานล่าสุด ก็คือ งานออกแบบและผลิตเครื่องมือผ่าตัดโรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือโดยใช้พลาสติก ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างเอสซีจี เคมิคอลส์  ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และบริษัทแปซิฟิค เฮลท์แคร์ ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ (Convertor)
          โดยผลิตเครื่องมือผ่าตัดโรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือโดยใช้พลาสติกที่พัฒนาขึ้น ผลิตจากเม็ดพลาสติกประเภท PP (Polypropylene) สามารถผ่านการฆ่าเชื้อโดยการฉายรังสีแกมมา (Gamma) และมีส่วนประกอบของพลาสติกประเภทอีลาสโตเมอร์ ช่วยให้จับกระชับมือในขณะใช้งาน   ซึ่งการนำพลาสติกมาผลิตช่วยให้เครื่องมือแพทย์มีต้นทุนต่ำลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้ทั่วถึงมากขึ้น
          นายยุทธนา เจียมตระการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โพลิโอเลฟินส์ จำกัด ในเอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า ข้อแตกต่างระหว่างพลาสติกที่ใช้ในงานด้านการแพทย์กับพลาสติกประเภทอื่น  คือ ทำอย่างไรให้ทั้งกระบวนการออกมาสะอาด ปลอดเชื้อ เพราะงานด้านการแพทย์เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคน  การออกแบบสูตรการผลิตจึงมีความพิเศษเป็นอย่างมาก เพราะต้องสามารถผ่านการฆ่าเชื้อ (Sterilization) ได้หลายรูปแบบ อาทิ การฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำความดันสูง การฆ่าเชื้อด้วยสารเคมี และการฆ่าเชื้อด้วยรังสีแกมมา ฯลฯ  ซึ่งก็ได้มีการควบคุมคุณภาพในการบริหารจัดการตลอด
          กระบวนการผลิต โดยผ่านมาตรฐานคุณภาพ ISO 13485 ที่มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มข้นในทุกขั้นตอนเพื่อดูแลเรื่องการปนเปื้อน
          อย่างไรก็ตามงานในครั้งนี้นอกจากจะแสดงนวัตกรรมพลาสติกสำหรับวงการแพทย์แล้ว ยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับพลาสติกและสุขภาพที่น่าสนใจอีกมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ กิจกรรมเวิร์กช็อป DIY Spacer ระดมพลังจิตอาสาจัดทำ DIY Spacer เครื่องพ่นยาสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ขาดแคลนทั่วประเทศ พร้อมส่งมอบให้กับชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 3,000 ชุด
          เป็นการนำพลาสติกมาประยุกต์เป็นเครื่องมือด้านการแพทย์เพื่อส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ขาดแคลนทั่วประเทศ.


pageview  1205837    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved