HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 23/08/2556 ]
โรคฉี่หนูระบาดหนักในภาคอีสาน

 เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์  ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝน โรคที่น่าเป็นห่วงคือโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซีส โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีอาชีพทำไร่ทำนา มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคสูงกว่าฤดูอื่น เนื่องจากมีแหล่งน้ำขังจำนวนมาก เชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควาย พบมากที่สุดในฉี่ของหนูทุกชนิด เชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำขังต่าง ๆ ดินโคลนที่เฉอะแฉะ และเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทาง คือ จากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ และเชื้อไชเข้าทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา หรือเข้าทางรอยผิวหนังถลอก รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำนาน ๆ หลังติดเชื้อประมาณ 7-10 วัน จะเริ่มมีอาการไข้สูงกะทันหัน ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่องขาทั้ง 2 ข้าง
          จากรายงานสำนักระบาดวิทยา สถาน การณ์โรคฉี่หนูตั้งแต่เดือน ม.ค.-วันที่ 11 ส.ค.56 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 1,459 ราย เสียชีวิต 13 ราย ผู้ป่วยมากสุดอยู่ในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ 835 ราย เสียชีวิต 7 ราย ส่วนในพื้นที่ 7 จังหวัดที่รับผิดชอบ พบรายงานผู้ป่วยโรคฉี่หนูแล้ว 220 ราย มากที่สุดในจ.ศรีสะเกษ 104 ราย รองลงมาคือ อุบลราชธานี พบผู้ป่วย 45 ราย และยโสธร มีผู้ป่วย 38 ราย ทั้งนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูหนาว และเร่งให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชน เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต
          อย่างไรก็ตามโรคฉี่หนูยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันได้ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องสวมรองเท้าบู๊ต และให้รีบชำระล้างทำความสะอาดร่างกายหลังขึ้นจากน้ำ กำจัดขยะ โดยเฉพาะขยะเปียกในบ้าน เช่น เศษอาหาร ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหารที่ค้างคืนในที่มิดชิด ล้างผักสดที่เก็บจากท้องไร่ท้องนาให้สะอาดก่อนรับประทาน หากมีอาการป่วย คือมีไข้สูงอย่างกะทันหัน ปวดเมื่อยตามร่างกายมาก โดยเฉพาะที่บริเวณ น่องขา ขอให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคฉี่หนู ขอให้ไปพบแพทย์.


pageview  1205517    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved