HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 15/08/2556 ]
สคบ.ลุยตรวจสินค้าจำเป็น พบคุณภาพห่วยมีโทษหนัก

 นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.จัดเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจสินค้าและบริการ ที่เป็นอันตราย และไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานต่าง ๆ ว่ายังปฏิบัติตามมาตรฐานที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมอบไว้ให้ หรือไม่ เริ่มลงพื้นที่ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นเมื่อได้สินค้ามาแล้ว สคบ. จะประสานกับบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) หรือเซ็นทรัลแล็บ ช่วยตรวจสอบสินค้า หากพบสินค้าไม่มีมาตรฐาน ถือว่ามีความผิดผู้ประกอบการสินค้านั้นต้องได้รับโทษทันที
          "ตอนนี้ สคบ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบสินค้าหลายแห่ง จึงประสานขอความร่วมมือเข้ามาตรวจสินค้า โดยการลงพื้นที่สุ่มตรวจจะทำแบบปูพรมตรวจสินค้าเกือบทุกประเภทที่ขายอยู่ในท้องตลาด โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากพบว่าสินค้ามีมาตรฐานต่ำกว่าเดิมหรือไม่ได้มาตรฐานที่กำหนด จะถูกลงโทษ และ สคบ. จะแจ้งสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานให้สังคมได้รับทราบด้วย"
          สำหรับการสุ่มตรวจสินค้าแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลเป็นทีม คือ 1. กลุ่มอาหารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น นม นมเปรี้ยว ขนมขบเคี้ยว ขนมปังกรอบ ขนมที่เด็กนิยมรับประทาน อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ ผักและ ผลไม้ อาหารบรรจุหีบห่อที่สามารถนำไปอุ่นในไมโคร เวฟได้ อาหารตามเทศกาล เช่น อาหารเจ และอาหารฮาลาล ว่าทั้งหมดมีมาตรฐานตามที่ได้รับตราสัญลักษณ์ติดไว้ที่บรรจุภัณฑ์หรือไม่
          2. กลุ่มเครื่องดื่ม เช่น น้ำแร่ ที่ต้องตรวจสอบว่าเป็นน้ำแร่จริงหรือไม่ น้ำผลไม้ที่คนนิยมรับประทานมาก เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จำหน่ายได้หรือไม่
          3. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ที่ก่อนหน้านี้มักได้รับการร้องเรียนว่ามีราคาสูง และสินค้าบางอย่างก็เกิดอันตรายต่อร่างกาย จึงต้องเข้าไปตรวจสอบ
          4. กลุ่มสินค้าเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยปลอม ที่ก่อนหน้านี้ระบาดหนักในหลายพื้นที่ แต่ล่าสุดก็ยังพบปัญหาปุ๋ยปลอมบางพื้นที่ จึงต้องเร่งตรวจสอบ
          5. กลุ่มสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม กระเป๋าผ้า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้า มีผลกระทบต่อร่างกายหรือไม่ ที่อาจมีโลหะหนักเป็นส่วนผสม รวมไปถึงเสื้อผ้ามือสอง ที่อาจมีสารเคมีตกค้างอยู่ และ 6. กลุ่มสินค้าที่ทำจากพลาสติก เช่น กล่องใส่อาหาร อาจมีสารเคมีละลายเจือปนในอาหารขณะนำไปอุ่นด้วยความร้อน โดยทั้งหมดจะจัดเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ เชื่อว่า จะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือนจากนี้
          นายจิรชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล สคบ. ก็ได้สั่งการให้ สคบ. เข้มงวดการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด โดยเฉพาะอาหาร ผักสด และผลไม้ ที่อาจมีความเสี่ยงถูกสารเคมีและยาฆ่าแมลงปนเปื้อน ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายของผู้บริโภค เบื้องต้นจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สคบ. เข้ามาหารือร่วมกัน ก่อนกำหนดแนวทางควบคุมให้ชัดเจน
          ขณะเดียวกันนอกจากเรื่องอาหารแล้ว ยังสั่งให้ สคบ. ควบคุมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพด้วย โดยให้พิจารณาแนวทางการจัดระเบียบ และหามาตรการเข้าควบคุมสินค้าที่จำหน่ายให้ผู้บริโภค ต้องปลอดภัย รวมถึงราคาที่จำหน่ายต้องเป็นธรรม ไม่คิดราคาสูง แต่คุณภาพสินค้าไม่เป็นไปตามต้นทุน และไม่มีคุณภาพด้วย.


pageview  1206089    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved