HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 25/07/2556 ]
: อย่ามองข้ามภัยแฝง! 'เรื่องของส้วม' 'สะอาด'สำคัญที่สุด

  กรณีที่ "เดลินิวส์" เปิดประเด็นเกี่ยวกับหญิงรายหนึ่งเกิดการ "ติดเชื้อโรค" ที่บริเวณอวัยวะเพศ และลุกลามใหญ่โตจนถึงขั้นต้องผ่าตัด ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะได้รับเชื้อโรคจากการเข้าห้องสุขานอกบ้าน กรณีนี้ไม่ว่าจะอย่างไรแน่ ที่แน่ ๆ คือเรื่อง 'ห้องน้ำ" 'ห้องสุขา" 'ห้องส้วม" นั้น ต้องไม่มองข้าม 'ความปลอดภัย"
          ทั้งนี้ กับการติดเชื้อโรคจากการเข้าห้องส้วมเพื่อปลดทุกข์หนักหรือทุกข์เบานั้น ก็มีแพทย์ออกมาระบุว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีปัจจัยหลายอย่าง ดังนั้นประชาชนคนไทยโดยทั่วไปจึงอย่าตื่นกลัวกันไปจนเกินเหตุ อย่างไรก็ตาม ถึงกระนั้นแพทย์ก็ได้แนะนำว่าการใช้ห้องส้วมก็ต้องคำนึงถึงเรื่อง 'ความสะอาด"
          ต้องมีการทำความสะอาดอุปกรณ์สุขภัณฑ์
          และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุขภัณฑ์โดยตรง!!
          ทั้งนี้ ว่ากันถึง 'เรื่องส้วม" ในภาพรวม มิได้เฉพาะเจาะจงกรณีใด จริง ๆ แล้วนี่ก็ถือเป็น 'เรื่องสำคัญ" เช่นกัน ซึ่งในเว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ก็มีข้อมูลเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว กล่าวคือ... คำว่า "ส้วม" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีความหมายถึง "ที่ถ่ายอุจจาระ-ปัสสาวะ" โดยคำว่าส้วมเป็นคำเก่าแก่ ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนคำว่า "สุขา" ที่มีนัยหมายถึง "ส้วม" นั้น น่าจะมาจากชื่อของกรมศุขาภิบาล ที่ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่ากรมศุขา มีความหมายถึงการบำรุงรักษา "ความสุข" ต่อมาเปลี่ยนเป็นคำว่า "สุขาภิบาล" ขณะที่คำว่า "สุขา" ก็กลายเป็นคำเรียก "ส้วม" แบบสุภาพ ที่ติดปากคนไทยมาจนปัจจุบัน
          "ส้วม" ในเมืองไทยมีหลายรูปแบบ หลายลักษณะ และมีวิวัฒนาการมาเป็นระยะ มีทั้ง...ส้วมหลุม, ส้วมถังเท, ส้วมคอห่าน หรือส้วมซึม แต่รูปแบบที่นิยมแพร่หลายเป็นสากลในปัจจุบันคือ...ส้วมชักโครก
          ด้วยเหตุที่ส้วมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างชนิดเลี่ยงไม่ได้ ประชาคมโลกจึงให้ความสำคัญกับเรื่องส้วมไม่น้อย ถึงขนาดมีการจัด "การประชุมส้วมนานาชาติ" หรือ "World Toilet Expo & Forum" ขึ้น เพื่อเป็นเวทีถกเถียง แลกเปลี่ยน รวมถึงหาแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาส้วม ซึ่งสำหรับประเทศไทยเราก็เคยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานส้วมระดับโลกนี้ด้วยเมื่อปี ค.ศ.2006
          โดยเวทีเกี่ยวกับส้วมระดับโลกในครั้งนั้นเรื่องการพัฒนา 'ส้วมสาธารณะ" ก็เป็นอีกหนึ่ง 'ประเด็นสำคัญ" บนเวทีหารือเรื่องส้วม ๆ
          ประเทศไทยก็เคยหยิบยกเรื่อง "ส้วม" ขึ้นเป็น "วาระแห่งชาติ"และเคยมีการแต่งตั้ง "ทูตส้วมชาย-หญิง" อีกทั้งยังเคยมีการจัดประกวดประชันแข่งขัน "ส้วมสุดยอด" แถมยังเคยมีการตั้งโครงการ "สายสืบส้วม" เพื่อเฝ้าระวัง ดูแล ตรวจตรา แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับส้วมด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกข้อบ่งชี้ว่าเรื่องส้วมนี่มิใช่เรื่องเล็ก ๆ
          เรื่องส้วมไม่ใช่เรื่องใหม่...เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก
          เป็นเรื่องใหญ่...และไทยเคยยกเป็นวาระแห่งชาติ
          ในทางกฎหมาย เรื่อง "ส้วม" นี้ในประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยมีพระราชกำหนดศุขาภิบาลกรุงเทพฯ (ร.ศ.116) ซึ่งปรากฏอยู่ในบันทึกทางเอกสาร หากจะถือเป็น "กฎหมายส้วมสาธารณะ" ฉบับแรก ๆ ก็คงจะได้ ส่วนในปัจจุบันเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และก็ยังมีประเด็นเรื่อง 'มาตรฐานส้วม" ตาม "หลักเกณฑ์ส้วมสาธารณะ" ของ HAS หรือ Health Access Safety
          ทั้งนี้ เมื่อมีประเด็นเรื่องมาตรฐานส้วม ถามว่า 'ส้วมที่ดี" นั้นต้องเป็นแบบไหน-เป็นอย่างไร?? คำตอบก็คือ...ส้วมที่ดีนั้นต้องเข้าเกณฑ์ตามมาตรฐาน ดังนี้...ด้านความปลอดภัย ต้องไม่อยู่ในที่เปลี่ยว, กรณีมี 2 ห้องขึ้นไป ควรแยกชาย-หญิง และมีป้ายบอกชัดเจน, ประตู ที่จับเปิด-ปิด และที่ล็อก ต้องสะอาด อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี, มีแสงสว่างเพียงพอ มองเห็นได้ทั่ว, พื้นห้องส้วมแห้ง ด้านความเพียงพอก็ต้องจัดให้มีส้วมนั่งราบสำหรับผู้พิการ ผู้สูงวัย หญิงตั้งครรภ์ และประชาชนทั่วไป อย่างน้อย 1 ที่, ต้องพร้อมใช้งานตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ
          ส่วน ด้านความสะอาด พื้น ผนัง เพดาน โถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ต้องสะอาด อยู่ในสภาพดี, น้ำ ภาชนะเก็บกักน้ำ ขันตักน้ำ ต้องสะอาด เพียงพอ, กระดาษชำระมีพอเพียง สายฉีดน้ำชำระต้องสะอาด, อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ กระจก ต้องสะอาด อยู่ในสภาพดี, มีสบู่ล้างมือ พร้อมให้ใช้ตลอดเวลา, มีถังรองรับขยะมูลฝอยที่สะอาด มีฝาปิด อยู่ในสภาพดี, มีการระบายอากาศดี ไม่มีกลิ่นเหม็น, ท่อระบายสิ่งปฏิกูล-ถังเก็บกักน้ำไม่รั่วแตก, มีการทำความสะอาดตรวจตราเป็นประจำ เป็นต้น
          เหล่านี้ก็เป็นบางส่วนของข้อมูลที่เกี่ยวกับ 'ส้วม" ในมุมที่เกี่ยวกับ 'ความปลอดภัย" โดยยึดโยงอยู่กับเรื่อง 'ความสะอาด" เป็นสำคัญ ซึ่งก็สะท้อนถึงกรณี "เชื้อโรคที่อาจแฝงอยู่กับส้วม" โดยเรื่องส้วมนี้ทั้งคนที่ใช้ส้วม และคนที่เป็นเจ้าของส้วม ต่างก็ต้องตระหนักถึงความสำคัญ ตระหนักถึงสิ่งที่สำคัญเพื่อความปลอดภัย
          โฟกัสกันที่ 'ส้วม" ต้องยอมรับว่ามิใช่แค่เรื่องส้วม ๆ
          แต่นี่ก็ถือเป็นเรื่อง 'สุขลักษณะ-สุขภาพ" ที่สำคัญ
          'อย่ามองข้ามเรื่องส้วม" ทั้งส่วนตัว-สาธารณะ!!!!!.


pageview  1205835    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved