HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 19/07/2556 ]
สธ.แนะใครปวดหัว...ตัวร้อนเสี่ยงไข้เลือดออก! รีบไปพบแพทย์ทันที...อย่าปล่อยไว้มีสิทธิถึงตายได้

 การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศขณะนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆและอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่  9 ก.ค. 2556 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยสะสม  67,889 ราย เสียชีวิต 71 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดกลุ่มวัยรุ่นช่วงอายุ 15-24 ปี และเมื่อนับรวมแล้วผู้ป่วยจะอยู่ในกลุ่มนักเรียนกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด โดยเฉพาะเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดอันดับหนึ่งของภาคเหนือ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 56 มียอดผู้ป่วยสะสม 3,456 ราย เสียชีวิต 4 ราย พบมากที่สุดที่ อ.แม่สาย ชายแดนไทย-พม่า จำนวน 1,027 ราย เฉพาะสัปดาห์ก่อนหน้านี้ทั้งจังหวัดมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 564 ราย
          ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของจังหวัดเชียงรายว่าการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกที่แพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ก็เหมือนกับการทำสงครามโดย นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ใช้มาตรการที่เข้มข้นในการตรวจสแกนไข้เลือดออกกันอย่างละเอียดเป็นรายหมู่บ้าน ทั้งในชุมชนต่างด้าวหรือพื้นที่ชายแดน เพื่อเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้หมด สิ้น และเร่งนำผู้ป่วยไข้เลือดออกเข้าสู่กระบวนการรักษาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และให้โรงพยาบาลทุกแห่งตั้ง "จุดตรวจผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก" หรือ "เด็งกี่คอนเนอร์ (Dengue Corner)" ขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในข่ายสงสัยเป็นไข้เลือดออกทำได้อย่างละเอียด รวดเร็วและรัดกุม
          เนื่องจากจุดแตกหักของการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกอยู่ที่การตรวจพบผู้ป่วยและนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยไข้เลือดออกให้ได้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการแสดงของโรคไข้เลือดออก ไม่รู้ตัวว่าป่วย มาพบแพทย์เมื่ออาการหนักมากแล้ว จึงทำให้การรักษาทำได้ไม่ทันเวลาและเกิดการเสียชีวิตในที่สุด โดยได้มอบเป็นแนวทางให้ทางโรงพยาบาลจัดพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยไข้เลือดออกโดยเฉพาะ เพื่อจำกัดวงการแพร่เชื้อไข้เลือดออกจากผู้ป่วยไปสู่บุคคลอื่น และแนะให้มีการฝึกอบรมทีมพยาบาลที่เชี่ยวชาญเรื่องไข้เลือดออกโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาและการตรวจอาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจวัดความดันและการตรวจวัดเกล็ดเลือด เพราะโรคไข้เลือดออกหากอาการหนัก อาจทำให้เกิดการช็อก หรือเสียชีวิต ด้วยระยะเวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น
          อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า "ไข้เลือดออก" เป็นโรคติดต่อที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาเฉพาะ เมื่อป่วยแพทย์จะให้การรักษาตามอาการแบบช่วยประคองจนกว่าผู้ป่วยฟื้นตัวและหายจากอาการป่วย  ช่วงที่อันตรายของโรคคือช่วงที่ไข้ลดลงประมาณวันที่ 3-4 ซึ่งจะเป็นช่วงที่เข้าสู่ระยะช็อกได้ หากผู้ป่วยซึมลง กินดื่มไม่ได้ให้รีบกลับไปหาแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที ถ้าหากรักษาไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 1 วัน จึงขอฝากไปถึงประชาชนทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นเด็กโดยเฉพาะเด็กอ้วน ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ต่าง ๆ เมื่อได้รับเชื้อจากการถูกยุงลายกัด จะมีโอกาสป่วยเป็นไข้เลือดออกและเสียชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ หากใครมีประวัติถูกยุงลายกัดและพบอาการที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก คือป่วยมีไข้ กินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลด 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปที่ "จุดตรวจผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก" หรือ "เด็งกี่คอนเนอร์" ที่ขณะนี้มีอยู่แทบทุก โรงพยาบาล เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจ คัดกรองโรคและรับการรักษาที่รวดเร็ว ก่อนที่จะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต
          "วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองจากโรคไข้เลือดออก นอกจากมาตรการ 5 ป. 1 ข. ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แล้วขอให้เพิ่มอีก 1 ท. คือ "ทายากันยุง" เพราะการทายากันยุงจะออกฤทธิ์ได้ ตั้งแต่ 6-8 ชั่วโมง นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้ยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกมากัดเราแล้ว ยังป้องกันไม่ให้ยุงไปกัดคนที่มีเชื้อไข้เลือดออกแล้วไปกัดคนอื่นต่อ ซึ่งจะเป็นการแพร่เชื้อไข้เลือดออกได้อีกทาง ที่สำคัญขอแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่นำบุตรหลานไปฝากเลี้ยงไว้ที่ศูนย์เด็กเล็ก ก่อนออกจากบ้านขอให้ทายากันยุงให้บุตรหลาน เพื่อป้องกันการโดนยุงกัด การทายากันยุงให้เด็ก ๆ จะได้ช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อีกวิธีหนึ่ง"อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวแนะนำในขณะที่ นพ.ศุภเลิศ เนตรสุวรรณ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมือง จ.เชียงราย กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลฯ ได้มีการตั้งจุดตรวจผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหรือเด็งกี่คอนเนอร์แล้ว โดยผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไข้เลือดออก ที่จุด "เด็งกี่คอนเนอร์" คือผู้ป่วย ที่มีอาการแสดง 3 ข้อ ที่สามารถสังเกตได้ คือ 1. เป็นไข้ ปวดศีรษะ 2. ปวดเมื่อยตามตัว และ 3. ไม่ไอไม่มีน้ำมูก
          การตรวจคัดกรองผู้ป่วยจะเริ่มด้วยการวัดความดัน โดยจะรัดแขนที่ค่าตรงกลางทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที เมื่อรัดเสร็จให้สังเกตอาการแสดง ถ้าพบจุดแดง ๆ เล็ก ๆ ใต้ผิวหนังของท้องแขนนับได้ตั้งแต่ 10 จุดต่อ 1 ตารางนิ้ว แสดงว่าอยู่ในข่ายที่จะเป็นไข้เลือดออก ต้องนำผู้ป่วยไปเจาะเลือด เพื่อตรวจค่าของเกล็ดเลือดว่าต่ำหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยมีค่าของเกล็ดเลือดต่ำ มีอาการซึม อาเจียน  กิน-นอนไม่ได้ ต้องนำตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที แต่ถ้าผู้ป่วยยังกินได้ นอนได้ ไม่ซึม หรือไม่มีอาการแสดงของโรคไข้เลือดออกแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ พร้อมทั้งแนะนำให้ทายากันยุงเพื่อป้องกันยุงกัด และจากรายงานพบว่าแต่ละวันจะมีผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายสงสัยเป็นไข้เลือดออกมารับบริการตรวจคัดกรองประมาณ 60-70 ราย ทั้งนี้มีการตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกที่ต้องรับตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1-2 รายต่อวัน.


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved