HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 11/07/2556 ]
เปิบเห็ดพิษ...อันตรายถึงตาย! แนะกินอร่อย-เรียนรู้ปลอดภัย

 'เห็ด'เป็นอาหารของมนุษย์ที่มีความอร่อยคู่กับคนไทยมานาน แต่เห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาตินั้นมีทั้งรับประทานได้ และรับประทานไม่ได้ ฉะนั้นวิธีการเลือกรับประทานมีทั้งเลือกแบบภูมิปัญญาชาวบ้านและแบบสุขอนามัย...แต่ก็ยังมีชาวบ้านออกหาเห็ดในป่ามาทำอาหาร "เปิบ" กันอร่อย จนลืมนึกถึงความปลอดภัย และสังเวยชีวิตให้กับความไม่รู้ชนิดของเห็ดพิษมาแล้วนับไม่ถ้วน
          นายชูศักดิ์ ตรีสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ช่วงฤดูฝนของทุก ๆ ปี อาหารตามธรรมชาติมากมายหลายประเภทที่ธรรมชาติส่งมาให้มนุษย์อย่าง เรา ๆ ได้รับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย อาหารดังกล่าวนั้นจะมีทั้งจำพวก ปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ประเภท กบ เขียด แมลง และประเภทพืชผักต่าง ๆ ที่สำคัญมี "เห็ด" ซึ่งมีทั้งสามารถนำมารับประทานได้และไม่ได้ วิธีการเลือกรับประทาน "เห็ด" ที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ คนไทยเรานิยมรับประทาน "เห็ด" ที่เกิดตามธรรมชาติมาตั้งแต่โบราณเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
          รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยอีกว่า สำหรับวิธี การเลือกรับประทาน "เห็ด" นั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ซึ่งชาวบ้านแต่ละพื้นที่จะมีความชำนาญของการเลือกจะแตกต่างกันไป แต่หัว ใจหลักสำคัญของการเลือก หรือสังเกต "เห็ด" แบบชาวบ้านนั้นจะนิยมนำมาใช้คือ การสังเกต "เห็ด" ที่ขึ้นตามธรรมชาติว่าตามดอกเห็ด และลำต้นนั้นมีสัตว์จำพวกแมลงต่าง ๆ กัดแทะกินเห็ดหรือ ไม่ หากมีแสดงว่าสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้ หรือหากไม่มั่น ใจเมื่อปรุงสุกแล้วให้นำข้าวสารลงแช่ในอาหารที่ปรุงจากเห็ดและทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที "หากข้าวสารเปลี่ยนจากสีเดิม เช่น สีแดง สีดำ หรือสีอื่น ห้ามรับประทานเด็ดขาด" หรือหากพบ "เห็ด" ที่ขึ้นตามธรรมชาติที่มีรูปร่างสวยงามไม่มีร่องรอยของแมลงกัดแทะ ห้ามสัมผัสหรือนำไปปรุงเป็นอาหารรับประทาน และประการสำคัญก่อนจะรับประทานเห็ดแต่ละชนิดควรจะปรึกษาคนที่มีประสบการณ์และความรู้ด้านรับประทานเห็ดก่อนโดยเฉพาะปราชญ์ชาวบ้านซึ่งมีอยู่ทุกหมู่บ้านอยู่แล้ว การรับประทาน "เห็ด" ธรรมชาติจึงจะมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแท้จริง
          นายแพทย์สมยศ ศรีจารนัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี จะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดเป็นประจำ เนื่องจากพฤติกรรมการหาของป่าประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่เห็ดธรรมชาติกำลังออกเป็นจำนวนมาก ประชาชนจำนวนมากจึงออกไปเก็บ "เห็ดป่า" หรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมารับประทานจนทำให้หลาย คนล้มป่วยจากการรับประทานเห็ดดังกล่าว โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวัน ที่ 30 มิถุนายน 2556 จังหวัดสระแก้ว มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 10 ราย จาก อ.เขาฉกรรจ์ 5 ราย อ.อรัญประเทศ 4 ราย และ อ.วัฒนานคร 1 ราย ส่วนใหญ่เห็ดที่ชาวบ้านเก็บมารับประทานจะเป็น "เห็ดระโงกเหลือง" ซึ่งเป็นเห็ดพิษ โดยเห็ดในสกุลนี้มีอยู่หลายชนิดทั้งรับประทานได้และรับประทานไม่ได้
          นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยอีกว่า สำหรับเห็ดระโงกพิษ มีอยู่ 3 ชนิด มีชื่อตามภาษาท้องถิ่นว่า เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก และเห็ดไข่ตายซาก รูปร่างทั่วไปคล้ายกับเห็ดระโงกที่รับประทานได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกที่รับประทานได้ขอบหมวกมักจะเป็นริ้วคล้ายรอยหวี มีกลิ่นหอมและก้านดอกกลวง ส่วนรูปร่างของเห็ดระโงกที่เป็นพิษ กลางดอก หมวกจะนูนขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะปลอกหุ้มโคน จะยึดติดกับก้านดอก ก้านดอกตัน หรือเป็นรูปที่ไส้กลางเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรงเมื่อดอกแก่ มักเกิดแยกจากกลุ่มเห็ดที่รับประทานได้ มีทั้งแบบดอกสีเหลืองอ่อน สีเขียวอ่อน สีเทาอ่อน และสีขาว เนื่องจากทั้งเห็ดชะโงกที่กินได้และเห็ดชะโงกพิษมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก ถ้าผู้เก็บไม่มีความชำนาญพอจะเก็บเห็ดมีพิษมารับประทานทำให้เกิดอาการต่าง ๆ และเสียชีวิตได้ "หากไม่แน่ใจและไม่ทราบชนิดแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ไม่ควรเก็บเห็ดนั้นมารับประทาน"โดยเฉพาะเห็ดป่า หรือเห็ดที่เราไม่คุ้นเคย หรือบางครั้งเห็ดที่ยังไม่โตเต็มที่ ทำให้ลักษณะภายนอกดูคล้ายคลึงกันกับเห็ดที่รับประทานได้
          นายแพทย์สมยศ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ หยุดกินเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ที่ยังเป็นดอกอ่อน เพราะเห็ดสกุลนี้ขณะดอกอ่อนจะมีลักษณะเหมือนกันหมด และหากเป็นไปได้ควรหยุดรับประทานเห็ดกลุ่มดังกล่าวไปเลย เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงที่จะไปเจอเห็ดพิษสูง ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตและตายได้แม้รับประทานเพียง 1-2 ดอก โดยเฉพาะเมื่อรับประทานเห็ดร่วมกับสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้พิษรุนแรงมาก ขึ้น "กรณีรับประทานเห็ดแล้วมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องหรือถ่ายอุจจาระเหลว ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที"
          "คนที่รับประทานเห็ดพิษจะมีอาการเบื้องต้นคือ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปากแห้ง เป็นตะคริวที่มือ วิธีรักษาต้องนำผู้ที่มีอาการดังกล่าวพบแพทย์และนำอุจจาระจากผู้ป่วยส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันที ซึ่งทางสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วได้ให้ความรู้แก่ประชาชนในหมู่บ้านผ่านหอกระจายข่าว ให้ความรู้นักเรียนในโรงเรียนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงให้เลิกเก็บเห็ดชนิดนี้หรือเห็ดที่ไม่รู้จักมารับประทาน และแจ้งผู้นำชุมชนซึ่งเป็นเครือข่ายทีมเฝ้าระวังโรคระดับหมู่บ้าน และหน่วยราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบจะได้ช่วยเหลือได้ทัน" นายแพทย์สมยศกล่าว.


pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved