HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 10/07/2556 ]
สสอป.ต่อยอดอาหารปลอดภัยขยายผลสู่..'โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก'

 งานอาหารปลอดภัยจังหวัดลำปางประสบความสำเร็จ ข้อมูลชี้!! ณ วันที่ 31 พ.ค. 56 พบการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษเพียง 2 เหตุการณ์ ในขณะที่ สธ. เลือกลำปางเป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่องโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เน้นการทำงานแบบบูรณาการ หวังลดป่วย ตาย และผลกระทบการเจ็บป่วยของเด็กจากอาหารไม่ปลอดภัยอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2556
          นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษาโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกล่าวว่า ลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้ดำเนินงานอาหารปลอดภัยมาตั้งแต่ปี 2546 โดยในปีนี้ลำปางยังได้รับคัดเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อช่วยให้การทำงานอาหารปลอดภัยง่ายขึ้นและมีทีมงานร่วมดำเนินงาน ให้หน่วยงานอื่น ๆ เห็นความสำคัญและมาร่วมดำเนินการอาหารปลอดภัย ประชาชนรวมทั้งกลุ่มเป้าหมาย เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ป่วย นักเรียน ฯลฯ ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ เกิดเครือข่ายการดำเนินงานทั้งในภาครัฐและเอกชน หวังให้การดำเนินโครงการฯประสบผลสำเร็จได้มากขึ้นและเกิดผลต่อการลดอัตราการป่วย ตาย และผลกระทบจากการเจ็บป่วยของเด็กจากอาหารไม่ปลอดภัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี 2556 นี้
          ทั้งนี้ผลจากการดำเนินงานอาหารปลอดภัยของจังหวัดลำปางที่ผ่านมาทำให้อัตราป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษของจังหวัดลำปางในทุกกลุ่มอายุมีสัดส่วนที่ลดลงจากปี 55 โดยในปี 2556 มีพบเพียง 158.24 ต่อแสนประชากร ในขณะที่ปี 2555 พบมากถึง 205.01 ต่อแสนประชากร ส่วนเหตุการณ์การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 พบเพียง 2 เหตุการณ์เท่านั้น
          นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอด ภัย (สสอป.) ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักบูรณาการเชื่อมโยงการดำเนินงาน "โครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" กล่าวระหว่างการศึกษาติดตามงานในพื้นที่จังหวัดลำปางว่า ลำปางได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ สำหรับปีงบประมาณ 2556 ไว้คือให้ศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดลำปางซึ่งมีทั้งหมด 358 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยปลอดโรคในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างน้อยร้อยละ 30 หรือประมาณ 107 แห่งและให้โรงเรียนซึ่งมีทั้งหมด 420 แห่งผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนอย่างน้อยร้อยละ 30 หรือประมาณ 126 แห่ง
          ซึ่งพบว่าการดำเนินโครงการฯ ของจ.ลำปางจะเน้นการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทั้ง กลุ่มงานควบคุมโรค กลุ่มงานส่งเสริมและกลุ่มงานทันตสาธารณสุข รวมทั้งกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่าง ๆ มีทั้งมีการพัฒนาสถานที่ปรุงประกอบอาหารตามเกณฑ์สุขาภิบาล และการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคุณภาพ การจัดเมนูชูสุขภาพในโรงเรียนและศูนย์เด็ก การดำเนินงานศูนย์เด็กปลอดโรค การดำเนินงานศูนย์เด็ก/โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ศูนย์เด็กอ่อนหวาน การจัดผลไม้เป็นอาหารว่าง โครงการ อย.น้อย ตรวจหาสารปนเปื้อน/ฉลากอาหาร/ด้านสุขาภิบาล
          จากข้อมูลรายงานผลสำเร็จพบว่าการดำเนินงานของ จ.ลำปางส่งผลให้มีศูนย์เด็กเล็กที่ผ่านเกณฑ์ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ตามเกณฑ์ของ กรมอนามัยระดับดีและดีมากร้อยละ 70 ผ่านเกณฑ์ด้านสุขาภิบาลอาหารร้อยละ 78 (เป้าหมาย 30 %) ผ่านเกณฑ์ศูนย์เด็กปลอดโรคกรมควบคุมโรค 199 แห่งร้อยละ 56 ปลอดขนมกรุบกรอบร้อยละ 87 และมีการจัดผลไม้เป็นอาหารว่างร้อยละ 35 และมีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ การดำเนินงานโครงการ อย.น้อย 139 แห่งหรือ ร้อยละ 56 โรงอาหารผ่านเกณฑ์สุขาภิบาลอาหารระดับดีขึ้นไปร้อยละ 86 โรงเรียนมีนโยบายปลอดน้ำอัดลมร้อยละ 85 โรงเรียนไม่มีการขายขนมและเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อสุขภาพร้อยละ 75 มีการจัดผลไม้เป็นอาหารว่างให้นักเรียนร้อยละ 51
          โดยพบว่าปัจจัยที่สนับสนุนให้งานสำเร็จคือการมีนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้อาหารปลอดภัยเป็นนโยบายที่ต้องดำเนินโครงการซึ่งจังหวัดลำปางดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปางมีนโยบายกำหนดให้อาหารปลอดภัยเป็นหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดทำให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกระดับอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีการกำหนดให้การดำเนินงานอาหารปลอดภัยเป็นตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของจังหวัด การสนับสนุนจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปางและผู้บริหารในทุกระดับ การบูรณาการงานระหว่างกลุ่มงานทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมทั้งในระดับอำเภอและตำบล ความเข้มแข็งของทีมงานสาธารณสุขในทุกระดับและหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งความร่วมมืออย่างดีจากเครือข่ายจากทุกภาคส่วน
          ด้านนายแพทย์ศิริชัย ภัทรนุธาพร นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดลำปาง กล่าวว่าภายใต้การดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัยจังหวัดลำปางได้มีการบูรณาการงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตและจำหน่ายในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยมี เป้าหมายเพื่อให้คนลำปางได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย อัตราการเกิดโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารลดลง ผลิตภัณฑ์อาหารในพื้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
          นอกจากนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางยังได้ให้การสนับสนุนและประสานการดำเนินงาน พัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นต้นแบบการดำเนินงานความปลอดภัยด้านอาหาร จนเกิดการขยายผลไปในหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ลำปางได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่อง "โครงการอาหารปลอดโรคปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา ตามแผนการดำเนินงานซึ่งประกอบด้วย การวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องและการคืนข้อมูล จัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ จัดประชุมชี้แจงเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงาน การเฝ้าระวังการระบาดโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การตรวจสอบสารปนเปื้อนทางสารเคมีและจุลินทรีย์ การจัดอบรมผู้ปรุงประกอบอาหารในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การประเมินโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามเกณฑ์ที่กำหนด การคัดเลือกโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีผลงานยอดเยี่ยม การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการติดตามผล
          ส่วน นายถนอม อุปวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่เมาะวิทยาจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ของการติดตาม งานครั้งนี้กล่าวว่าการดำเนิน "โครงการอาหารปลอดโรคปลอดภัยในโรงเรียนแม่เมาะวิทยา" อันดับแรกเลยโรงอาหารต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CFGT ต่อมาก็คือการรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการอาหารที่จะมาขายอาหารในโรงเรียน เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วก็จะต้องเข้ารับการอบรมพัฒนามาตรฐานเป็นผู้ประกอบการอาหารที่ดีและมีคุณภาพ โดยทางโรงเรียนจะมีทีมงาน อย.น้อยคอยทำหน้าที่ตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารที่จำหน่ายในโรงเรียนเป็นระยะ ๆ ถ้าพบว่าไม่ปลอดภัยหรือมีการปนเปื้อนต่าง ๆ ก็จะแจ้งให้ปรับปรุง ถ้ายังไม่ปรับปรุงทางโรงเรียนก็จะไม่อนุญาตให้ผู้ค้ารายนั้น มาขายอาหารในโรงเรียนอีกต่อไป นอกจากนี้ทางโรงเรียนจะไม่อนุญาตให้มีการจำหน่าย น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบอย่างเด็ดขาด
          ด้าน แพทย์หญิงวราลักษณ์ ตังคณะกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำจากกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่าจากการตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯครั้งนี้ ถือได้ว่าการดำเนินของโรงเรียนแม่เมาะวิทยาและที่อื่น ๆ ในจังหวัดลำปางประสบผลสำเร็จอย่างมาก ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติม แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความสำเร็จของโครงการ และเชื่อมั่นว่าในระยะต่อไปจังหวัดลำปางก็จะสามารถทำให้อาหารปลอดภัย และสามารถดำเนินโครงการฯได้ตามเกณฑ์ 100% กรมควบคุมโรคซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีส่วนในการดูแลโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก จะเป็นหน่วยสนับ สนุนให้มีการเชื่อมต่อ SRRT กับโรงเรียน เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและสร้างฐานข้อมูลการเฝ้าระวังโรค ตามแนวทางการรับมือในภาวะฉุกเฉินด้านโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามเป้าหมายเพื่อให้มีการบูรณาการโครงการต่าง ๆ ในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ให้เด็กไทยมีสุขภาพดี ปลอดโรคจากการกินไม่ถูกต้อง โรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการลดโรค การเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศชาติ.


pageview  1205865    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved