HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 04/07/2556 ]
การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เข้าใจ ห่วงใย ไม่ทอดทิ้ง

 "โรคอัลไซเมอร์" เป็นกลุ่มอาการซึ่งเกิดจากความผิดปกติในด้านการทำงานของสมอง จะมีการสูญเสียหน้าที่ของสมองหลายด้านพร้อม ๆ กัน แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เกิดขึ้นอย่างถาวร ส่งผลให้มีการเสื่อมของระบบความจำและการใช้ความคิดด้านต่าง ๆ
          ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการแก้ไขปัญหาหรือการควบคุมตนเอง มีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพ พฤติกรรม และส่งผลกระทบต่อการทำงาน รวมถึงการดำรงชีวิตประจำวัน ในระยะสุดท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด และจะค่อย ๆ แย่ลงจนถึงอาการสุดท้าย คือ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และเสียชีวิตเพราะอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
          ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยด้านพันธุกรรม รวมถึงปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น อาหาร สิ่งแวดล้อม สารพิษ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น
          จากการศึกษาในประชากรผู้สูงอายุไทย พบความชุกของโรค อัลไซเมอร์ ร้อยละ 1-2 ในกลุ่มประชากรอายุ 60-69 ปี และพบความชุกเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในทุก ๆ ช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น 5 ปี
          สำหรับผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป โดยพบความชุกของโรคอัล ไซเมอร์สูงที่สุดในกลุ่มประชากรที่มีอายุระหว่าง 70-80 ปี ประมาณร้อยละ 12
          ทั้งนี้มีการประมาณการว่าน่าจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยประมาณ 665,287 คน
          ยาที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ ช่วยเพียงแค่ควบคุมอาการของโรคเท่านั้น ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงต้องมีผู้ดูแล โดยผู้ที่จะมาดูแลผู้ป่วย จะต้องทำความเข้าใจ และยอมรับกับภาวะสมองเสื่อมของผู้ป่วยอัลไซเมอร์
          ผู้ดูแลมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การขับถ่ายอย่างถูกสุขอนามัย การอาบน้ำ สวมใส่เสื้อผ้า รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้านเพื่อไม่ให้เกิดการพลัดหลงกัน
          ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์บางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิต-ประสาท เช่น ยาที่ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า ก้าวร้าว ฯลฯ ผู้ดูแลควรช่วยในเรื่องการรับประทานยาให้สม่ำเสมอ และพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามที่แพทย์นัด ตลอดจนสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยเพื่อแจ้งแก่แพทย์ผู้รักษาทราบได้อย่างถูกต้อง
          สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ คือ อุบัติเหตุ ดังนั้น ผู้ดูแลควรระมัดระวังและดูแลสถานที่ บ้านพักอาศัยให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย
          การดูแลด้านจิตใจและอื่น ๆ ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือด้านจิตใจของผู้ป่วยได้ โดยการให้กำลังใจ การให้รับประทานอาหารให้พอเพียงและถูกหลักโภชนาการ ดูแลเรื่องการออกกำลังกายตามความเหมาะสม รวมถึงการมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การพาออกนอกบ้านเพื่อทำกิจกรรมหรือการเข้ากลุ่มกับผู้สูงอายุด้วยกัน
          หากผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นซึ่งความจำยังไม่บกพร่องมาก ควรหากิจกรรมฝึกความจำให้กับผู้ป่วยเพื่อช่วยชะลออาการของภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ได้
          นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว ตัวผู้ดูแลเองก็ควรจะดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองด้วย เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ตลอดเวลาอาจก่อให้เกิดความเครียดหรือปัญหาด้านอารมณ์ บางครั้งผู้ดูแลอาจรู้สึกผิด ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองทำถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นนอกจากผู้ดูแลจะมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์แล้ว ต้องดูแลสุขภาพจิตของตนเองด้วย
          ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ กรรมการเลขานุการ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "เนื่องจากผู้ดูแลมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ดังนั้น มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ให้แก่ญาติผู้ป่วยหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เป็นประจำทุกปี ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครได้ที่ www.az.r.t หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.0-2644-5499 ต่อ 138".


pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved