HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 02/07/2556 ]
'ความรู้ใหม่ ๆ ของโรคพาร์กินสัน - ตอนที่ 2 การรักษาโดยการผ่าตัด'

 นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์
          เพื่อความต่อเนื่องสำหรับท่านผู้อ่าน ขอทบทวนสรุปความรู้จากตอนที่ 1 ดังนี้ โรคพาร์กินสัน มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยลีโอนาโด ดาวินชี แต่เพิ่งจะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นโดยเฉพาะในวงการแพทย์เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1817 โดยนายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ชาวอังกฤษ ได้เขียนตำราพยายามอธิบายโรค นี้ไว้
          ปัจจุบันเป็นที่ทราบ รับรู้ทางวิชาการว่า โรคพาร์กินสันเกิดจากการเสียสมดุลของสารเคมีชนิดหนึ่งในสมองที่ชื่อว่า "โดปามีน" อันเนื่องมาจากเซลล์สมองส่วนที่สร้างสารดังกล่าวเกิดการเสื่อมสลายไปกว่า 80% ซึ่งสารชนิดนี้ทำหน้าที่ควบคุมระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อสมองขาดโดปามีน จึงเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งจากสถิติทั่วโลก พบผู้ป่วยโรคนี้ได้ประมาณ 1% ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และพบมากขึ้นถึง 4% ในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป นั่นแสดงให้เห็นว่าถ้าคนมีอายุยืนมากขึ้นโอกาสที่จะพบโรคนี้ก็มากขึ้นเช่นกัน
          การรักษาหลักเป็นการรักษาทางยา ซึ่งมีวิธีบริหารยาได้หลากหลายรูปแบบและควรได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทวิทยา (Neurology)
          สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสันโดยการผ่าตัด ปัจจุบันมี 2 แบบ คือ
          1. การผ่าตัดชิ้นเนื้อบางชนิดออกไป ซึ่งได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อย ๆ
          2. การผ่าตัดแล้วฝังขั้วไฟฟ้าเข้าไป ในสมองส่วนลึก รู้จักกันในชื่อ  DBS (Deep Brain Stimulation) ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากได้ผลดี ในการฝังขั้วไฟฟ้าในสมองส่วนลึกนี้จะมีการลากสายไฟฟ้าผ่านชั้นผิวหนัง มีสวิตช์ตัวเล็ก ๆ อยู่ที่บริเวณแผ่นอก และจะมีการปรับตั้งค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อให้กระแสไฟฟ้าส่งไปที่เนื้อสมองส่วนลึกตามความจำเป็น ส่งผลให้คนไข้ซึ่งมีอาการสั่นกลับมาเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
          "การรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันในขั้นต้นโดยทั่วไปแพทย์ จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาก่อน แล้วก็ค่อย ๆ ปรับยาตามความเหมาะสม ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้ผู้ป่วยต้องใช้ความอดทนสักเล็กน้อยเพราะต้องทานยาและค่อย ๆ ปรับยาไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าทานยาแล้วจะหายเลย คนไข้ต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคด้วย เพราะฉะนั้นทั้งตัวคนไข้และแพทย์ต้องใจเย็น แนะนำว่าการรักษาโรคทุกชนิดไม่เฉพาะโรคพาร์กินสัน เราควรจะปรับยากับแพทย์ท่านเดิม ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์บ่อย ๆ เพราะนั่นจะทำให้ขาดความต่อเนื่องในการรักษาและการปรับยาครับ...โดยธรรมชาติของโรค ผู้ป่วยในระยะ 2-5 ปีแรกจะมีการตอบสนองต่อยาชนิดรับประทานที่ดีมาก แต่เมื่อเลย 5 ปีไปแล้ว คนไข้จะเริ่มมีโรคแทรกซ้อนขึ้นมา การตอบสนองต่อยาก็จะด้อยลง หรือเรียกว่าดื้อยา จึงมีการดัดแปลงรูปแบบการให้ยาเพื่อให้มีการออกฤทธิ์ที่ยาวขึ้น ยาในกระแสเลือดก็มีคงที่ขึ้น ทำให้การตอบสนองต่ออาการดีกว่าการรับประทานยา"
          หมออัครวุฒิ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันว่าโดยส่วนใหญ่แพทย์จะให้คำแนะนำกับคนไข้ที่รักษาโดยการรับประทานยา ว่าอาหารประเภทที่มีโปรตีนและไขมันสูง จะทำให้ประสิทธิภาพการดูดซึมยาด้อยลง จึงควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายแทน หรือหากจำเป็นจริง ๆ ก็จะแนะนำให้คนไข้ทานยาก่อนอาหาร...นอกจากนี้การรักษาโดยการผ่าตัดใส่ขั้วไฟฟ้าเข้าไปในสมองส่วนลึกก็ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทุกราย ทั้งนี้เหมาะสำหรับใช้ในผู้ป่วยที่อายุไม่มากนัก และควรเป็นผู้ที่ยังมีการตอบสนองต่อการใช้ยาด้วย เพราะอย่างที่ทราบว่าเมื่ออายุมากก็จะมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจและโรคเบาหวาน ซึ่งการผ่าตัดอาจส่งผลต่อโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็เป็นได้
          เป็นที่ทราบกันว่า โรคที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาทนี้ การฟื้นฟูจะมีบทบาทสำคัญมาก ในการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนกลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับปกติ ซึ่งโรคพาร์กินสันก็เช่นเดียวกัน เรื่องนี้คุณหมออธิบายว่า การฟื้นฟูที่สำคัญสำหรับ ผู้ป่วยพาร์กินสัน เช่น การฝึกเดิน การออกกำลังกายเพื่อลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อและข้อ สิ่งเหล่านี้จะมาช่วยเสริมกับการรักษาหลัก ๆ ที่ใช้อยู่ ถ้าหากคนไข้ได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปการรักษาจะดีกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฟื้นฟูเลย
          "ถึงตรงนี้เชื่อว่าคงเกิดคำถามขึ้นในใจหลายคน ว่าโรคพาร์กินสันรักษาแล้วหายไหม คงต้องบอกว่าโรคนี้ก็เหมือนกับโรคทางสมองและระบบประสาทอีกหลายโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์สมอง จึงต้องบอกว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่เราสามารถช่วยให้โรคของคนไข้นั้นดีขึ้นได้ แม้จะไม่หายก็ช่วยให้ทุเลาได้ ที่สำคัญกว่านั้นการรักษาจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไข้นั้นดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการไม่รักษา"
          สำหรับผู้ที่กำลังสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดจะมีโรคพาร์กินสันหรือไม่ ก็ให้ลองสังเกตจากอาการเบื้องต้นคือ สั่น, เคลื่อนไหวเชื่องช้า, มีภาวะตึงตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อและมีการทรงตัวที่ผิดปกติเมื่อเดินหรือไม่ หากมีอาการข้างต้นก็ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้าเป็นไปได้ก็ให้เลือกแพทย์ทางประสาทวิทยาเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น หากตรวจแล้วพบว่าเป็นโรคพาร์กินสันจริง ก็ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องการทานยา และการเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อน ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการล้มหรือการมีพฤติกรรมทางสมองที่เปลี่ยนไป นอกจากนั้นยังต้องมีการให้ความรู้กับญาติว่าโรคที่พึงระมัดระวังมีอะไรบ้าง เพราะบางครั้งญาติไม่เข้าใจว่าทำไมคนไข้จึงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งหากคนไข้ ญาติ และแพทย์ให้ความร่วมมือกัน เชื่อว่าการรักษาจะได้ผลดีที่สุด
          ปัจจุบันยังไม่พบว่ามียาตัวใดที่จะสามารถช่วยป้องกันโรคพาร์กินสันหรือแม้แต่จะชะลอโรคพาร์กินสันให้ดำเนินไปให้ช้าลงได้ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ยังไม่เป็นหรือ เป็นแล้วก็คือการดูแลตัวเองให้แข็งแรง การตรวจสุขภาพเป็นระยะ การทานอาหารที่ถูกต้อง และการออกกำลังกาย ซึ่งจะให้ผลดีกว่าการ เฝ้าหายาหรือเครื่องช่วยต่าง ๆ เพื่อหวังที่จะป้องกันโรคพาร์กินสันได้...จริง ๆ แล้วยังมีโรคภัยไข้เจ็บอีกจำนวนมากในโลกนี้ที่มนุษย์เรายังต้องเผชิญ และมีโรคอีกมากมายเหลือเกินที่เราไม่สามารถหาวิธีการป้องกันได้ ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามธรรมชาติคือ มีเกิด แก่ เจ็บ และตาย ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ร่างกายที่ เสื่อมสภาพหรือเสื่อมสลายไปนั้น ได้รับการดูแลเพื่อให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ใกล้เคียงเหมือนเดิมมากที่สุด
          ข้อมูลจาก นายแพทย์อัครวุฒิ  วิริยเวชกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.


pageview  1205874    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved